“พรเทพ เบญญาอภิกุล” อ.เศรษฐศาสตร์ มธ. จี้ กสทช.ให้ความสำคัญกับนิยามกระบวนการและการตรวจสอบเนื้อหาประมูลทีวีดิจิตอล พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อเกณฑ์ ห้ามถือครองช่องรายการ HD...
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในการนำเสนอรายงานหัวข้อประเด็นทางเศรษฐศาสตร์ต่อการจัดสรรช่องรายการทีวีดิจิตอลธุรกิจว่า ประเภทช่องรายการธุรกิจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องการสร้างความหลากหลายในเนื้อหาและสนับสนุนให้เกิดรายการบางประเภทที่มีคุณภาพดี เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ไม่ได้รับความนิยม เช่น รายการข่าวสารสาระและรายการเด็ก เนื่องจากรายการเหล่านี้มีศักยภาพทางธุรกิจต่ำกว่ารายการบันเทิง ซึ่งกลไกตลาดอาจไม่สามารถสร้างรายการที่มีคุณภาพดีในมุมมองของสังคมได้ ซึ่งวิธีการแบ่งประเภทช่องเป็นการแก้ปัญหาในเชิงปริมาณเท่านั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาทางคุณภาพได้ เพราะผู้ประกอบการช่องรายการข่าวและรายการเด็กยังต้องผลิตรายการที่สร้างผลกำไรสูงสุด ขณะที่สังคมกลับมีต้นทุนในการอุดหนุนให้เกิดช่องรายการเหล่านี้ผ่านราคาประมูลใบอนุญาตที่ถูกกว่า หรือนิยามว่า รายการเด็ก และรายการข่าว มีความคลุมเครือ และกระบวนการตรวจสอบและการรับผิดไม่แข็งแรง สังคมจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพไม่สอดคล้องกับราคาที่จ่ายไป
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า สิ่งที่ กสทช. จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการแบ่งประเภทช่อง คือ ให้ความสำคัญกับการนิยามกระบวนการและการตรวจสอบเนื้อหา จำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1.การวางกรอบคุณสมบัติรายการที่ช่องรายการต้องมีการผลิตสำหรับกลุ่มผู้ชมที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้โฆษณาต่ำ เช่น รายการสำหรับเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน รายการสารคดีและสาระความรู้ที่ส่งเสริมความเข้าใจและประสบการณ์ 2.ข้อกำหนดเกี่ยวกับความหลากหลายของรายการ เช่น กำหนดโควตาการออกอากาศสำหรับรายการที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด และเวลาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของรายการนั้นๆ 3.ข้อกำหนดเกี่ยวกับเนื้อหาของโฆษณาสำหรับรายการเด็ก เช่น ประเภทสินค้าที่เหมาะสมกับโฆษณาที่เหมาะกับรายการเด็ก ข้อกำหนดเกี่ยวกับโฆษณาแฝง การมอบรางวัลในรายการเด็ก และ 4.ข้อกำหนดเกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในการออกอากาศที่ชัดเจน เช่น การดูถูก ทำให้อับอาย ตลกขบขัน และเหยียดหยามกลุ่มคนจากพื้นฐานทางด้านเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ รสนิยมทางเพศ ศาสนา รวมถึงความพิการทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ
...
นายพรเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตั้งข้อสังเกตต่อเกณฑ์ ห้ามถือครองช่องรายการประเภททั่วไประบบความคมชัดสูง (HD) และช่องรายการข่าวพร้อมกันว่า เกณฑ์ดังกล่าวจะไม่มีผลผูกพันภายหลังการประมูล แต่จะลดการแข่งขันในการประมูลช่องรายการข่าวเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ และมีศักยภาพในการผลิตรายการคุณภาพสูงที่เป็นเจ้าของช่อง HD จะถูกกันออกไป ช่องรายการข่าวทั้ง 7 ช่อง จะมีแต่ผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็ก ที่มีศักภาพการผลิตต่ำกว่าเท่านั้น ในขณะที่ทางเลือกที่เข้มงวดน้อยลง เช่น กำหนดเพดานจำนวนผู้ประกอบการที่สามารถถือครองช่อง HD และช่องข่าวไม่เกิน 2-3 ราย น่าจะช่วยให้คุณภาพของรายการข่าวและสาระสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้มากขึ้น
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงราคาเริ่มต้นประมูลว่า กสทช. ใช้มูลค่าช่องรายการจากวิธีที่ให้ค่าต่ำที่สุดเป็นฐานในการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูล และจะปรับราคาเริ่มต้นการประมูลลงจากมูลค่าดังกล่าวเป็นสัดส่วน หากจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลมากขึ้น โดยส่วนลดตั้งแต่ 2% -สูงสุด 20% จากมูลค่าต่ำที่สุด มาตรฐานนี้ในแง่หนึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในการประมูล และการลดราคาลงเล็กน้อยยังช่วยให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้มูลค่าของใบอนุญาตที่คู่แข่งคาดคะเน ซึ่งจะมีประโยชน์ในกรณีที่มูลค่าช่องรายการประเมินให้แม่นยำได้ยาก
นายพรเทพ กล่าวด้วยว่า มาตรการดังกล่าวไม่มีอะไรน่ากลัว สามารถมั่นใจได้ว่าผู้ตั้งใจจริงจังมีจำนวนมากกว่าใบอนุญาต ทว่ามันก็อาจมีข้อเสียและเป็นดาบ 2 คม เนื่องจากจะสร้างแรงจูงใจให้ผู้เข้าร่วมประมูลที่จริงจัง หาผู้เข้าร่วมประมูลที่ไม่ได้สนใจจริงจังเพิ่ม เพื่อดึงให้ราคาเริ่มต้นการประมูลลดลง ซึ่งมีความเสี่ยงว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลจะเป็นราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าประมาณการอย่างแย่ที่สุดถึง 20% โดยที่การแข่งขันจะไม่ได้สูงตามที่คาด ดังนั้น จึงขอเสนอให้ กสทช.วางมาตรการป้องกันพฤติกรรมดังกล่าว มาตรการ เช่น การเพิ่มเงินวางหลักประกัน การไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ประมูล รวมถึงข้อมูลว่าผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายร่วมประมูลในใบอนุญาตช่องรายการประเภทใดบ้าง จะช่วยให้การร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมประมูลเป็นไปได้ยากมากขึ้น