กสทช. ให้ผู้รับใบอนุญาตเปิดให้บริการโทรศัพท์ระบบ 3 จีส่งแผนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโทรศัพท์มายัง กสทช.ก่อนการเปิดให้บริการระบบ 3 จี  หวังเป็นแนวทางควบคุมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ให้เป็นอันตราย...

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย กล่าวว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) นั้น ก่อนที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3จี ทั้ง 3 ค่าย จะเปิดให้บริการ 3 จี จะต้องส่งแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) มาให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณา ซึ่งแผนนี้จะต้องครอบคลุมถึงเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้แก่ ซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้ว ประกอบไปด้วยสารเคมีที่มีพิษตกค้างยาวนานและสะสมในสิ่งมีชีวิต รวมทั้งยังมีโลหะหนักต่างๆ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม สารหน่วงการติดไฟ และสารเคมีอันตรายอื่นๆ ซึ่งสารเหล่านี้ถือว่าเป็นสารอันตราย ถ้าหากไม่มีระบบการจัดการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการก็จะปนเปื้อนลงสู่ดิน แหล่งน้ำ น้ำใต้ดินและในบางกรณีแพร่กระจายขึ้นสู่อากาศ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์โดยตรง โดยสารเหล่านี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ และเกิดการสะสมในระดับที่มากเกินควรก็จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งในที่สุด

...

นอกจากแผนการเปิดให้เครือข่ายโทรศัพท์ระบบ 3 จีในย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่ผู้ได้รับใบอนุญาต 3 จี ของบริษัทในเครือเอไอเอส ดีแทคและทรู ต้องส่งมายัง กสทช.แล้ว ก่อนการเปิดให้บริการระบบ 3 จี ยังต้องส่งแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility – CSR) มาให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมพิจารณาด้วย ซึ่งครอบคลุมการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือที่ใช้แล้วที่มีสารเคมีที่มีพิษตกค้างยาวนาน โลหะหนักต่างๆ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม หากไม่มีระบบการจัดการที่ถูกต้องก็จะมีการปนเปื้อนลงสู่ดิน แหล่งน้ำ แพร่กระจายสู่อากาศ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

กรรมการ กสทช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประกาศ กสทช.ยังกำหนดให้ค่ายมือถือทั้ง 3 ค่าย จะต้องจัดทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคมาให้บอร์ด กทค.พิจารณาก่อนเริ่มให้บริการ 3 จี ซึ่งแผนนี้จะต้องครอบคลุมถึงเรื่องมาตรการการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีค่าบริการ มาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม และกระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนในการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม