บอร์ด กสท. ย้ำกรอบเวลา ราคาประมูลทีวีดิจิตอล ก.พ. หลักเกณฑ์การประมูลช่องธุรกิจ มี.ค. ก่อนเปิดประมูล ก.ค.นี้ ลั่นล้มประมูลทีวีดิจิตอลทันที หากจำนวนผู้ประกอบการเท่ากับช่องรายการ เล็งตรวจสเป็กเซ็ตท็อปบอกซ์ กลางก.พ.นี้...
เมื่อวันที่ 4 ก.พ. พ.อ. นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด กสท. ว่า ที่ประชุมมีมติพิจารณา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ สำหรับการประกอบกิจการทางธุรกิจพ.ศ.... 2.อนุมัติเพิ่มคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงเพิ่ม 100 สถานี แบ่งเป็น ประเภทธุรกิจ 58 สถานี สาธารณะ 15 สถานี และชุมชน 27 สถานี รวมถึงปัจจุบัน 848 สถานี แบ่งเป็น ธุรกิจ 612 สถานี สาธารณะ 215 สถานี และชุมชน 111 สถานี และ 3.รายงานผลการพิจารณาข้อร้องเรียนของนายประมุท สูตะบุตร เรื่องขอให้ตรวจสอบการขยายระยะเวลาในการดำเนินการกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อไปอีก 10 ปี อันเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประธาน กสท. กล่าวต่อว่า กรอบเวลาการให้ใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดิจิตอล ปลายไตรมาส1/2556 และการคัดเลือกการประกวดราคาช่องบริการสาธารณะ พ.ค. ส่วนช่องบริการชุมชน ปลายปี 2556 ขณะที่ ราคาเริ่มต้นในการประมูลใบอนุญาต หรือ ไลเซ่นส์ ทีวีดิจิตอล ประเภทธุรกิจ จำนวน 24 ช่อง รวมช่องเอชดี 4 ช่อง นั้น จะแล้วเสร็จเดือน ก.พ. ส่วนหลักเกณฑ์การประมูลช่องธุรกิจจะแล้วเสร็จเดือน มี.ค. และจะเปิดประมูลช่วง ก.ค.-ส.ค.2556
สำหรับ กล่องรับสัญญาณ หรือ เซตท็อปบ็อกซ์ (Set top box) ที่จะนำมาติดตั้งกับเครื่องรับโทรทัศน์อนาล็อกรองรับการแพร่ภาพออกอากาศด้วยระบบดิจิตอล นั้น ล่าสุดมีการดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดย กสท. จะประกาศให้ผู้ประกอบการที่ต้องการขายกล่องเข้ามาทดสอบ เพื่อตรวจเช็คสเป็กและการใช้งานในช่วง กลางเดือน ก.พ.นี้
...
พ.อ.นที กล่าวอีกว่า มีจำนวนตัวเลขผู้ประกอบการ 25 ราย ทั้งรายเดิมและรายใหม่ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะข้ามาร่วมประมูลในครั้งนี้ ส่วนการกำหนดเพดานช่องรายการนั้น ยังเป็นเรื่องที่หารืออยู่ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางเดือน ก.พ. ขณะที่ คุณสมบัติเบื้องต้น ของผู้ประกอบการที่จะสามารถเข้าร่วมประมูลได้นั้นต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และ หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล พ.ศ....
สำหรับ การประมูลนั้นจะใช้วิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเลคทรอนิคส์ หรือ อี-ออคชั่น(E-Auction) เนื่องจากเป็นวิธีที่ง่าย ทุกคนเข้าใจดี และสามารถให้ผู้เข้าประมูลทุกคนเห็นรายละเอียดได้ โดยแยกการประมูลออกตามประเภทช่องรายการ แบ่งเป็น ข่าว 5 ช่อง เด็กและเยาวชน 5ช่อง ทั่วไปแบบสแตนดาท (เอสดี) 10 ช่อง และทั่วไปแบบไฮเดฟฟิเนชั่น (เอชดี) 4 ช่อง นอกจากนี้ ถ้าจำนวนผู้ประกอบการมีเท่ากับช่องที่ประมูล จะยกเลิกการประมูลทันที อย่างไรก็ตาม กสท. ยังไม่ได้เตรียมแผนรองรับหากการประมูลยังไม่เกิดขึ้น เพราะมั่นใจว่าจะต้องเกิดการประมูล เพื่อเดินไปข้างหน้าแน่นอน.