เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ผมก็อยากสรุปเหตุการณ์สำคัญของโลกไอทีในปี 2012 เลือกมา 10 เหตุการณ์ เรียงตามลำดับดังนี้ครับ...
อันดับ 10 ซีอีโอหญิงของยาฮู
เริ่มต้นจากบริษัทที่โลกลืมอย่างยาฮู อดีตยักษ์ไอทีที่เงียบเหงาไปมากในช่วงหลัง
หลังจากยาฮูประสบปัญหาเรื่องการแต่งตั้งซีอีโอเพื่อกู้วิกฤติของบริษัทอยู่พักใหญ่ (เพราะซีอีโอคนก่อนหน้านี้ถูกจับได้ว่าปลอมวุฒิการศึกษา) ในที่สุดบริษัทก็หาทางออกได้สำเร็จ โดยชิงตัวมาริสสา เมเยอร์ (Marissa Mayer) วิศวกรหญิงของกูเกิลและหญิงเก่งแห่งวงการไอทีมานั่งเป็นซีอีโอได้แบบช็อกวงการ
นับจากวันนั้นถึงวันนี้ มาริสสายังไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก แม้ว่าเธอจะเข้าไปเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของยาฮูหลายอย่าง แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่านย่อมต้องใช้เวลา และเราคงต้องติดตามกันต่อไปว่าเธอจะสามารถ “ปลุกผี” ให้ยาฮูกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้หรือไม่
อันดับ 9 ข่าวประท้วงกฎหมาย SOPA
ข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจในปีนี้คือความเคลื่อนไหวของเว็บไซต์และบริษัทไอทีต่างๆ คัดค้านกฎหมายลิขสิทธิ์ออนไลน์ของสหรัฐที่เรียกกันย่อๆ ว่า SOPA ซึ่งเว็บดังหลายแห่งก็ประกาศ “จอมืด” ทำหน้าเว็บเป็นสีดำเพื่อประท้วงร่างกฎหมายฉบับนี้
...
SOPA เป็นความพยายามของบริษัทสื่อดนตรี-ภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ที่ต้องการผลักดันมาตรการทางกฎหมายแก้ปัญหาเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์บนโลกออนไลน์ ในขณะที่บริษัทไอทีกลับมองว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพของอินเทอร์เน็ต ซึ่งสุดท้ายกระแสคัดค้าน SOPA ได้ผล และร่างกฎหมายนี้ก็ถูกผลักตกไป
อันดับ 8 ยุทธศาสตร์ Google Nexus
ยักษ์ใหญ่ของโลกออนไลน์อย่างกูเกิล ปีนี้ไม่มีข่าวใหญ่เด่นๆ เหมือนกับที่ปีก่อนประกาศเข้าซื้อโมโตโรลา แต่ก็มีความเคลื่อนไหวขนาดย่อยๆ มากมาย (คนที่ติดตามข่าวไอทีน่าจะรู้ว่ากูเกิลมีข่าวทุกสัปดาห์ บางสัปดาห์แทบจะทุกวันด้วยซ้ำ)
ข่าวของกูเกิลที่ผมเห็นว่าสำคัญที่สุดในปีนี้คือการปรับยุทธศาสตร์ฮาร์ดแวร์ Google Nexus เสียใหม่ จากเดิมที่ออกโทรศัพท์มือถือแบรนด์ Nexus ปีละรุ่น ก็หันมาออกสินค้าประเภทอื่นๆ อย่างแท็บเล็ตด้วย แถมยังจับมือกับบริษัทฮาร์ดแวร์หลายรายร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนานกันไป ซึ่งปีนี้กูเกิลมีผลิตภัณฑ์ Nexus ที่สำคัญ 3 รุ่น ตั้งชื่อตามขนาดหน้าจอ ได้แก่ Nexus 4 (แอลจี) Nexus 7 (เอซุส) และ Nexus 10 (ซัมซุง)
ประเด็นที่น่าสนในคือเรื่อง “ราคา” เพราะกูเกิลตั้งราคาขายถูกมาก แท็บเล็ต Nexus 7 มีราคาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทด้วยซ้ำ ซึ่งการตั้งราคาแบบนี้จะกดดันให้มือถือ-แท็บเล็ตปี 2013 มีราคาถูกลงจากเดิมอีกมากเช่นกัน
อันดับ 7 คดีระหว่างแอปเปิลกับซัมซุง
ต้องย้ำก่อนนะครับว่าแอปเปิลกับซัมซุงมีคดีฟ้องร้องกันทั่วโลกเยอะมาก นับรวมได้หลายสิบคดี แต่ในปีนี้เราเห็นคดีสำคัญคดีหนึ่งคือการฟ้องร้องในสหรัฐฯ คณะลูกขุนตัดสินให้แอปเปิลชนะซัมซุง และกำหนดค่าเสียหายให้ซัมซุง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ย้ำอีกรอบว่าคดีนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เพราะคณะลูกขุนตัดสินแล้วแต่ผู้พิพากษายังไม่ฟันธง (ศาลอเมริกาใช้ระบบลูกขุน ซึ่งต่างไปจากศาลไทย) และสองบริษัทนี้ก็ผลัดกันแพ้ชนะในคดีอื่นๆ ที่กระจายฟ้องกันไปมาทั่วโลก
อันดับ 6 ปัญหาแผนที่ Apple Maps
...
นานทีปีหนเราจะเห็นแอปเปิลทำอะไรพลาดครั้งใหญ่ และแผนที่ Apple Maps ที่ออกมาพร้อม iOS 6 ก็เป็นกรณีศึกษาคลาสสิกอีกกรณีหนึ่ง
เดิมทีแอปเปิลใช้ข้อมูลแผนที่จากกูเกิลกับแอพแผนที่ของตัวเอง แต่เมื่อสองบริษัทนี้ทะเลาะกัน แอปเปิลจึงพยายามสลายอิทธิพลของกูเกิล และผลออกมาเป็นการทำระบบแผนที่ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม งานนี้แอปเปิล “ท่าดี” แต่ “ทีเหลว” เพราะเปิดตัวระบบแผนที่ในขณะที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์เอามากๆ จนโดนวิจารณ์อย่างหนัก
แอปเปิลต้องแก้เกมโดยให้ซีอีโอออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ และมีข่าวว่าปลดพนักงานระดับสูงบางตำแหน่งเนื่องจากล้มเหลวกับยุทธศาสตร์ด้านแผนที่
อันดับ 5 ไอโฟน 5
ถึงแม้แท็บเล็ตจะกลายเป็นอุปกรณ์ไอทีที่ได้รับความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ แต่สุดท้ายถ้าต้องมาวัดกันแล้ว คนส่วนใหญ่ก็ยังให้ความสำคัญกับ “สมาร์ทโฟน” มากกว่า เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา และราชาแห่งโลกสมาร์ทโฟนย่อมหนีไม่พ้น “ไอโฟน” ของแอปเปิล
...
ข่าวการเปิดตัวไอโฟน 5 จึงได้รับการจับตามองอย่างสูงมาตลอดปี และแอปเปิลเองก็ไม่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนๆ เพราะเปิดตัว “ไอโฟน 5” ที่เป็นการปรับรุ่นครั้งใหญ่ (ต่างไปจาก ไอโฟน 4S ที่เป็นการปรับรุ่นย่อย) มีการเปลี่ยนแปลงระดับฐานรากไปจนถึงขนาดของตัวเครื่องที่ยาวขึ้นกว่าเดิม
ไอโฟน 5 ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าทั่วโลก ถึงแม้ว่าส่วนแบ่งตลาดในภาพรวมจะเสียแชมป์ให้กับแอนดรอยด์ไปนานแล้วก็ตาม
อันดับ 4 กสทช. จัด ประมูลคลื่น 2100MHz
ข่าวใหญ่อันดับสี่ขอยกให้เป็นข่าวของเมืองไทย นั่นคือการจัดประมูลคลื่น 2100MHz ของ กสทช. เพื่อให้บริการ 3G ที่รอคอยกันมานานแสนนาน
การประมูลคลื่น 3G มีเรื่องราวยิบย่อยมากมายซึ่งปรากฏตามหน้าสื่ออยู่แล้ว คงไม่ต้องเล่าซ้ำให้เปลืองพื้นที่ สถานการณ์ล่าสุดตอนนี้ กสทช. ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้งสามรายแล้ว และเราจะเห็นบริการ 3G อย่างเป็นทางการในปีหน้า
อันดับ 3 เฟซบุ๊กซื้ออินสตาแกรม
ในสายตาของผมแล้ว แอพมือถือที่โดดเด่นที่สุดในปี 2012 มี 2 ตัวคือ อินสตาแกรม (Instagram) และ ไลน์ (LINE)
...
กรณีของไลน์ถือเป็นแอพที่ได้รับความนิยมสูงมากในประเทศไทย แต่ตัวผลิตภัณฑ์และบริษัทเองกลับไม่มีความเคลื่อนไหวใหญ่ๆ ให้เห็นมากนัก (ข่าวเล็กๆ มีเยอะ เช่น แอพเวอร์ชั่นใหม่ สติกเกอร์ใหม่ เกมใหม่ ฯลฯ)
ในขณะที่อินสตาแกรมเต็มไปด้วยข่าวใหญ่ๆ โตๆ เช่น การออกแอพเวอร์ชั่นแอนดรอยด์ จากเดิมที่มีเฉพาะบนไอโฟนเท่านั้น จนมี “ดราม่า” เกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้ไอโฟนกับแอนดรอยด์ไปเสียอย่างนั้น
แต่ข่าวใหญ่จริงๆ คือการขายกิจการให้เฟซบุ๊กด้วยมูลค่าในขณะนั้นสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ (ภายหลังตัวเลขจริงๆ ลดลงเพราะหุ้นเฟซบุ๊กตก) ถือเป็นตัวอย่างของ “ความสำเร็จ” ครั้งใหญ่แห่งวงการผู้สร้างแอพมือถือ ที่สามารถสร้างแอพดีมีคุณภาพ ถูกใจตลาดมีผู้ใช้จำนวนมหาศาล แถมยังขายทำเงินร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีได้อีก
อันดับ 2 เฟซบุ๊กเข้าตลาดหุ้น
หลังจากรอกันมานานหลายปี และแล้ว โซเชียลเน็ตเวิร์กอันดับหนึ่งของโลกก็เข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แนสแดกของสหรัฐอเมริกา ถือเป็นจุดสูงสุด (และอาจเป็นจุดสิ้นสุด) ของความเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “เว็บ 2.0” ซึ่งก่อตัวขึ้นในวงการไอทีเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน
เว็บ 2.0 เป็นชื่อเรียกเว็บแนวใหม่ที่เน้นปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งาน กระแสเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นราว ปี 2005-2006 โดยเว็บดังๆ ในปัจจุบันอย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ต่างเกิดขึ้นและเติบโตในช่วงเวลาเดียวกันนี้ แน่นอนว่ามีบางเว็บล้มหายตายจากไป บางเว็บถูกรายใหญ่ซื้อกิจการ แต่หัวหอกของกระแสเว็บ 2.0 ย่อมหนีไม่พ้น “เฟซบุ๊ก” ที่นำมาเป็นอันดับแรกในเรื่องจำนวนผู้ใช้และความสำคัญ การเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จึงเป็นสัญญาณว่าเฟซบุ๊กเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว
ผมขอแถมประเด็นเรื่องหุ้นเฟซบุ๊กตกหนักในช่วงแรกๆ ว่าเป็นเพราะความคาดหวังของนักลงทุนที่มีมากเกินไป ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กถูกมองว่าเป็น “พระเจ้า” ของโลกไอที ทำอะไรก็ถูกไปหมด แถมยังมีภาพยนตร์อย่าง The Social Network ช่วยดันกระแส ทำให้เมื่อขายหุ้นจริง ผลประกอบการยังไม่โตเร็วเท่าที่นักลงทุนคาดหวัง หุ้นจึงตกหนักดังที่เห็น (ล่าสุดก็เริ่มไต่ระดับกลับมาดีบ้างแล้ว)
อันดับ 1 เปิดตัววินโดวส์ 8
ผมยกตำแหน่ง “ข่าวใหญ่ที่สุดของวงการไอทีปี 2012” ให้พี่เบิ้มของวงการอย่างไมโครซอฟท์ ที่ทุ่มทั้งบริษัทเปิดตัวระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 เดิมพันชะตาชีวิตในอนาคต ถ้าถามว่าทุ่มเทขนาดไหน? ก็ถึงขนาดว่าไมโครซอฟท์ยอมเปลี่ยนโลโก้บริษัทและโลโก้ผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ทั้งหมด ยกชุดรับงานนี้เลยทีเดียว
การเปิดตัววินโดวส์ 8 ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์เพียงตัวเดียว แต่เป็นการประกาศจุดเปลี่ยนสำคัญทางยุทธศาสตร์ของบริษัทด้วย เปลี่ยนจากบริษัทที่เคยขายซอฟต์แวร์ หันมาขายฮาร์ดแวร์เซอร์เฟซ และเน้นบริการออนไลน์แบบเช่าใช้งานมากขึ้น ซึ่งยุทธศาสตร์นี้จะประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ต้องติดตามดูกันในระยะยาวๆ สัก 2-3 ปีครับ.
มาร์ค Blognone