ป้ายโฆษณา Galaxy Note II หน้าตลาดสก็อตในย่างกุ้ง

เมื่อสัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสไปเที่ยวประเทศพม่าหรือเมียนมาร์ เพื่อนบ้านทางทิศตะวันตกของเราที่กำลังเนื้อหอมมาก เลยถือโอกาสเก็บประเด็นในแง่สถานการณ์การใช้งานไอทีในพม่ามาฝากคุณผู้อ่านนะครับ...

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า ผมไปเที่ยวครั้งนี้ในฐานะ “ทัวริสต์” ไปกับทัวร์เต็มรูปแบบ ไม่ได้แบกเป้ไปเที่ยวเองแต่อย่างใด ดังนั้นข้อมูลที่ได้จึงมาจากการสังเกตป้ายโฆษณาตามท้องถนน และสอบถามจากไกด์ท้องถิ่นเป็นหลัก อาจจะไม่ถูกต้อง 100% กับสถานการณ์จริงในประเทศพม่า


โทรศัพท์มือถือในพม่ามีทั้งระบบ GSM และ CDMA ส่วนใหญ่แล้วเป็นบริการแบบ 2G และมี 3G บ้างเล็กน้อยเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น คนพม่ายังใช้โทรศัพท์มือถือกันไม่เยอะนัก ตัวเลขที่ไกด์บอกมาคือประมาณ 10 ล้านคน ยังมีประชากรอีก 50 ล้านคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีเหล่านี้

จุดที่น่าสนใจคือการสมัครใช้มือถือจะต้องซื้อ “ซิมการ์ด” ในราคาสูงถึง 8,000 บาท โดยต้องขอซื้อจากรัฐบาลและผ่อนเป็นงวดๆ ไป

โทรศัพท์มือถือยอดนิยมตามที่ไกด์บอกคือซัมซุง หัวเหว่ย และเอชทีซี แต่เท่าที่ผมสังเกตเองตามท้องถนน เห็นคนใช้มือถือของหัวเหว่ยมากที่สุด พอเห็นคนใช้ไอโฟนบ้างประปราย อย่างไรก็ตาม ร้านขายโทรศัพท์มือถือในพม่ามีเยอะมาก และหลายร้านตั้งชื่อที่เกี่ยวข้องกับ “แอปเปิล” เพื่อเป็นจุดขาย

นั่งรถไปในเมืองเราจะเห็นป้ายโฆษณาโทรศัพท์มือถือมากพอสมควร ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาของซัมซุง โดยมือถือรุ่นใหม่ๆ ทั้ง Galaxy S III, Note II และ Note 10.1 ก็มีขายและโฆษณาในพม่าอย่างเอิกเกริก

...


ราคาสินค้าในไอทีที่ประเทศพม่าใกล้เคียงกับบ้านเรา จากโฆษณาในนิตยสารไอทีที่รับแจกมา iPad mini รุ่น 16GB Wi-Fi ขายอยู่ที่ 349,000 จ๊าด หรือประมาณ 15,000 บาท (หาร 23 นะครับ) และ Samsung Galaxy Note 10.1 รุ่น 16GB 3G ขายที่ 478,500 จ๊าด หรือประมาณ 21,000 บาท

โทรศัพท์มือถือ iPhone 5 รุ่น 16GB ราคา 649,000 จ๊าด หรือ 28,000 บาท และ Samsung Galaxy S III รุ่น 16GB ขาย 435,000 จ๊าด หรือ 19,000 บาท

นอกจากสินค้ายี่ห้อดังๆ จากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ยังมีแท็บเล็ตจีนสารพัดยี่ห้อเข้ามาทำตลาด ตัวอย่างเช่น MoMo, Onda, Zest-pro, OPAD, AOSON, KNC, SKT เป็นต้น ซึ่งผมก็ยอมรับว่าแทบไม่รู้จักเลย

อินเทอร์เน็ตในพม่าใช้งานได้ปกติดี เท่าที่ทดสอบไม่มีเว็บไซต์ดังๆ รายไหนถูกบล็อก (กูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ใช้ได้หมด) แต่อาจเข้าถึงได้ช้าหน่อย ซึ่งผมคิดว่าเป็นปัญหาเรื่องข้อจำกัดในการเชื่อมต่อของทางโรงแรมที่พักด้วยส่วนหนึ่ง ส่วนบริการที่ใช้ในพม่าไม่ได้คือ Google Play ของกูเกิล ซึ่งกูเกิลเองก็ระบุชัดว่าไม่รองรับการใช้งานในประเทศพม่าอยู่แล้ว


ร้านอินเทอร์เน็ตมีให้เห็นเพียงเล็กน้อย น่าเสียดายว่าผมไม่มีโอกาสเข้าไปดูภายในร้านว่าเป็นอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ในพม่ายังมีบริการ WiMAX สำหรับต่ออินเทอร์เน็ตไปยังที่พักอาศัย (เหมือนกับบ้านเราต่อ air card) อีกด้วย

ปิดท้ายคอลัมน์ตอนนี้ว่าพม่าเป็นประเทศที่กำลังเปิดกว้างทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็แปลว่าไอทีกำลังตามเศรษฐกิจเข้าไปติดๆ เช่นกัน หน่วยงานห้างร้านในประเทศไทยที่ทำธุรกิจด้านนี้อยู่ อาจต้องเริ่มมองหาโอกาสในพม่ากันแล้วล่ะครับ

...


มาร์ค Blognone