...

ฉลุย! คณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการฮั้วประมูล 3จี ไม่พบพฤติกรรมเอกชนเข้าข่ายฮั้ว หรือสมยอมราคา พร้อมชงเรื่องยื่นเลขาฯ กสทช.ภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้...

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. นายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการฮั้วประมูล 3จี กล่าวภายหลังประชุมคณะทำงานเพื่อสรุปผลสอบสวนว่า ผลการตรวจสอบของคณะทำงาน ไม่พบว่าเอกชนสมยอมราคา หรือเข้าข่ายฮั้วแต่อย่างใด เพราะเป็นการประมูลตามกติกาของ กสทช.ทุกขั้นตอน ส่วนข้อสังเกตที่ว่าหลักเกณฑ์ของ กสทช.ไม่เอื้อให้เอกชนเกิดแรงจูงใจในการแข่งขันราคานั้น คณะทำงานไม่ได้มีอำนาจในการตรวจสอบประเด็นดังกล่าว โดยคณะทำงานจะเสนอผลสรุปทั้งหมดต่อนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้ เพื่อไม่ให้การตรวจสอบขัดขวางกระบวนการให้ไลเซ่นส์ที่ กสทช. มีกำหนดจะออกให้กับเอกชนภายในวันที่ 18 ม.ค.2556 หรือ ภายใน 90 วัน ตามที่รับรองผลการประมูล

ทั้งนี้ ประเด็นที่คณะทำงานพิจารณานั้นมีเพียงประเด็นเดียว คือ ผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรู มีพฤติกรรมการฮั้วประมูลหรือสมยอมราคาหรือไม่ โดยดูตั้งแต่ก่อนการประมูล ในระหว่างการประมูล และภายหลังการประมูล

“คณะทำงานตรวจสอบแล้ว ไม่พบว่ามีเอกชนฮั้วประมูล เพราะเป็นการประมูลตามกติกาของ กสทช.ทุกขั้นตอน ส่วนข้อสังเกตที่ว่า หลักเกณฑ์ของ กสทช.ไม่เอื้อให้เอกชนเกิดแรงจูงใจในการแข่งขันราคานั้น  อำนาจของคณะทำงานไปไม่ถึงตรงนั้น อำนาจเราดูแค่พฤติกรรมการประมูลของเอกชน ซึ่งพบว่าทั้ง 3 ราย สู้ราคากันตามปกติ ถูกต้องทุกขั้นตอน และทำตามประกาศที่ กสทช.กำหนดทุกอย่าง” ประธานคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการฮั้วประมูล 3จี กล่าว

กรณีที่ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง และนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ไม่มาร่วมชี้แจงกับคณะทำงานที่เชิญมาก่อนหน้านี้  ส่วนตัวมองว่าจะไม่ส่งผลทำให้ความน่าเชื่อถือของคณะทำงานลดลง ขณะที่ประเด็นที่ถูกมองว่า คณะทำงานชุดนี้ ถูกตั้งโดย กสทช. ทำให้ไม่มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบนั้นระบุว่า คณะทำงานฯ ไม่เคยตั้งธงในการสอบสวน การพิจารณาได้ใช้กระบวนการทางข้อมูลทุกด้านที่มีอำนาจในการตรวจสอบ เพื่อวินิจฉัยในประเด็นเดียวว่า ทั้ง 3 รายฮั้วกันหรือไม่

นายจิตต์นรา นวรัตน์ คณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการฮั้วประมูล 3จี กล่าวว่า วันนี้ถือว่าการตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนแล้ว โดยเชิญสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยมาชี้แจง โดยได้รับคำยืนยันว่า ไม่มีการกีดกันในการออกสินเชื่อให้เอกชน และให้สินเชื่อเท่าเทียมกันทุกราย ซึ่งประเด็นที่คณะทำงานสอบถามจะเกี่ยวกับวิธีการให้สินเชื่อเป็นอย่างไร มีใครมาขอบ้าง มีรายไหนที่มาขอแล้วธนาคารไม่ให้บ้าง ซึ่งทราบว่ามีไปขอสินเชื่อแค่ 3 รายเท่านั้น แต่ไม่ได้ขอพร้อมกัน

ทั้งนี้ แนวทางการสรุปผลสอบแบ่งเป็น 3 ด้าน กลุ่มแรก คือผู้ประกอบการเอกชนทั้ง 3 ราย ที่มายื่นประมูล กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มารับซองแต่ไม่ได้เข้าร่วมประมูล ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น มายื่นเผื่อไว้ก่อนเพราะกลัวบริษัทในเครือจะไม่ผ่านคุณสมบัติ บางส่วนเป็นบริษัทที่มีความสนใจ แต่เห็นว่าโครงการ 3จี มีขนาดใหญ่เกินไป แต่ไม่มีข้อมูลจึงมาขอรับซองข้อมูลไปศึกษาเผื่อการประกอบกิจการในอนาคต และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีการกล่าวหาว่าการประมูลมีการกีดกัน แต่เมื่อสอบสวนแล้วไม่พบว่ามี