มติเอกฉันท์ บอร์ด กสท.เคาะช่องรายการทีวีดิจิตอล ช่องบริการชุมชน 12 ช่องสาธารณะ 12 และช่องธุรกิจ 24 ช่อง แบ่ง 4 กลุ่ม  ห้ามการเมืองยุยง หมิ่นสถาบันเข้าร่วม พร้อมชงเข้าบอร์ด กสทช. วันที่ 10 ต.ค.นี้... 

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสท. ว่า ที่ประชุม กสท.มีมติเอกฉันท์ร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโทรทัศน์ประเภทใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล กำหนด โดยกำหนดสัดส่วนช่องรายการชุมชน 20% ช่องรายการสาธารณะ 20% และช่องรายการธุรกิจ 60%

ทั้งนี้ จากเดิมได้แบ่งสัดส่วนการให้บริการดิจิตอลออกเป็น 60 ช่อง แบ่งเป็น ช่องชุมชนอีก 12 ช่อง ช่องสาธารณะ 12 ช่อง และช่องธุรกิจ 36 ช่อง โดยได้ปรับช่องธุรกิจเป็น 24 ช่อง แบ่งเป็น กลุ่ม 1 รายการเด็ก/เยาวชน/ครอบครัว 5 ช่อง กลุ่ม 2 รายการข่าวสาร/สาธารณประโยชน์ 5 ช่อง กลุ่ม 3 รายการทั่วไป( สแตนด์ดาส เดฟิเนชั่น) 10 ช่อง และกลุ่ม 4 รายการทั่วไป (ไฮเดฟิเนชั่น) 4 ช่อง  เนื่องจาก 1 ช่องไฮเดฟ เท่ากับ 3 ช่องรายการทั่วไป อย่างไรก็ตาม ช่องสาธารณะจะเริ่มเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือ ไลเซ่นส์ ช่วงเดือน ธ.ค.2555 ส่วนช่องชุมชนจะเป็นช่วงปลายปี 2556 เนื่องจากต้องรอความพร้อมด้านโครงข่ายการเข้าถึงให้เรียบร้อยก่อน ขณะที่ช่องรายการธุรกิจระบบดิจิตอล จะอยู่ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.2556 โดยไลเซ่นส์ช่องรายการจะมีอายุ 15 ปี  ซึ่งจะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช.ในวันที่ 10 ต.ค.นี้

รองประธาน กสทช. กล่าวต่อว่า ราคาการประมูลไลเซ่นส์นั้น ขณะนี้ ยังไม่ได้กำหนด แต่เบื้องต้นคิดว่าราคามูลค่าคลื่นไม่จำเป็นต้องสูง เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องราคาสูง แต่ต้องการผู้ประกอบการที่สร้างคอนเทนต์ที่ดี พร้อมทั้งกำลังศึกษาว่าผู้ประกอบการมีจำนวนกี่ราย อีกทั้งหลักเกณ์การประมูลนั้นจะต้องดูที่มาตรฐานค่าประมูลทั่วไป แต่ยังไม่ได้กำหนด แต่มอบหมายให้คณะอนุกรรมการประเมินมูลค่าคลื่นเป็นผู้พิจารณา อย่างไรก็ตาม เจ้าของช่องรายการจะได้รับใบอนุญาต 2 ใบ คือ ใบอนุญาตคลื่นความถี่ และใบอนุญาตการให้บริการ ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างจัดทำ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ พ.ศ. ... ซึ่งคาดว่าเดือน พ.ย. จะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สามารถเข้าร่วมประมูลได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ห้ามการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ และ ม.37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ยังกำหนดผู้ประกอบการและผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือ ไลเซ่นส์ ต้องไม่ให้บริการเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ผิดศีลธรรม สร้างความแตกแยก ยุยง ปลุกปั่น ดังนั้น ในช่องรายการระบบดิจิตอลจำนวน 24 ช่องธุรกิจ จะไม่มีช่องใดเป็นช่องรายการเกี่ยวกับการเมือง 

พ.อ.นที กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กสท.ได้สรุปค่าธรรมเนียมไลเซ่นส์ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์แล้วในอัตรา 2% จากรายได้ และจะเริ่มมีผลทันทีกับผู้ได้รับไลเซ่นส์ที่จะออกเดือน ต.ค.2555 ทั้งกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ คือ เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม และในระบบดิจิตอลที่จะให้ไลเซ่นส์ได้ก่อน คือ ช่องรายการสาธารณะ และผู้ให้บริการโครงข่ายเพื่อรวบรวมช่องรายการ (มัลติเพลกเซอร์) โดยใช้วิธีคัดเลือกแบบบิวตี้ คอนเทสต์.

...