“กสทช.” สั่งปรับดีแทค 10 ล้านบาท กรณีปล่อยเครือข่ายล่มเมื่อ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ขีดเส้นต้องจ่ายภายใน 25 ก.ย. ด้านซีอีโอดีแทคยัน พร้อมจ่าย เพราะเตรียมเงินชดเชยลูกค้าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ปีนี้จ่ายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท...

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีปัญหาสัญญาณโทรศัพท์มือถือดีแทคขัดข้องหรือล่มในช่วงเวลา 11.00 -12.05 น.ของวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยนายฐากร กล่าวว่า กสทช.ได้ทำหนังสือแจ้งดีแทคเกี่ยวกับการกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีไม่บำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคม เครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์จนเป็นเหตุให้เกิดสัญญาณโทรศัพท์มือถือขัดข้อง โดยกำหนดค่าปรับจำนวน 10 ล้านบาทและให้ชำระภายใน 15 วัน หรือภายใน 25 ก.ย.นี้ หากไม่ยอมรับคำสั่งให้ดีแทคทำหนังสือุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ใน 15 วัน

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการค่าปรับได้รายงานให้ทราบว่า การคำนวณค่าปรับนั้น คิดจากข้อมูลที่สำนักงานตรวจสอบคิดเป็นค่าเสียหาย 14 ล้านบาท จาก 151 นาที แต่ดีแทคแจ้งว่า เสียหาย 65 นาที คิดเป็นค่าเสียหาย 6 ล้านบาท ฉะนั้นเมื่อเจรจาตกลงกันไม่ได้ จึงไกล่เกลี่ยและเฉลี่ยค่าเสียหาย และได้ตกลงกันที่ 10 ล้านบาท ขณะนี้ กสทช.ได้ออกประกาศเรื่อง เกณฑ์การพิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่บำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคม เครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมที่ตนนำมาใช้ในการให้บริการโทรคมนาคมเพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานทางเทคนิคตามที่กำหนด ทั้งนี้ได้กำหนดเกณฑ์กำหนดค่าปรับดังนี้ ค่าปรับขั้นต่ำ 10 ล้านบาทต่อครั้ง ไม่ว่าจะเสียหายมากหรือน้อยกว่า 10 ล้านบาท ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือก็ต้องจ่าย 10 ล้านบาท แต่ถ้าเกิดปัญหาสัญญาณล่มซ้ำซาก โดยเกิดเหตุครั้งที่ 2 จะนำค่าปรับขั้นต่ำ 10 ล้านบาทคูณด้วย 1.25 ล้านบาท ครั้งที่ 3 ค่าปรับขึ้นต่ำ 15 ล้านบาท ครั้งที่ 4 ค่าปรับขั้นต่ำ 17.5 ล้านบาท และถ้าเกิดเหตุครั้งที่ 5ในรอบปี ก็จะนำค่าปรับขั้นต่ำ 10 ล้านบาท มาคูณด้วยจำนวนที่เลขาธิการ กสทช.กำหนด

“การกำหนดกฎเกณฑ์ค่าปรับครั้งนี้ ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง ที่จะปรับเฉพาะเกิดปัญหาสัญญาณขัดข้อง แต่ไม่รวมกับเหตุสุดวิสัย แต่ค่าปรับนี้ยังไม่รวมค่าเสียหายที่ค่ายมือถือจะต้องชดใช้เยียวยาให้แก่ผู้ใช้บริการตามสัญญาหรือตามกฎหมาย โดยเฉพาะผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544” เลขาฯ กสทช. กล่าว

ด้านนายจอน กล่าวว่า ดีแทคพร้อมจ่ายค่าปรับวงเงิน 10 ล้านบาท เพราะถือเป็นความผิดพลาดของดีแทค ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและไม่ยื่นอุทธรณ์ใดๆ ส่วนการยื่นอุทธรณ์ค่าปรับครั้งที่ผ่านมา วงเงิน 20,000 บาทนั้น ก็คงต้องรอคำสั่งของ กสทช.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ได้ชี้แจงต่อ กสทช.ว่า ดีแทคได้พยายามที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอด แต่ไม่สามารถการันตีอนาคตได้ว่าจะเกิดปัญหาเช่นนี้อีก แต่สิ่งที่ยืนยันได้ว่าได้พยายามทำทุกอย่างให้โครงข่ายและบริการของดีแทคพร้อมให้บริการลูกค้าอย่างไม่มีปัญหา เพราะกระทบภาพลักษณ์ของดีแทคอย่างมาก ซึ่งยอมรับเหตุการณ์สัญญาณล่มครั้งนี้ ทำให้ต้องใช้เวลาในการเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมา ส่วนเหตุการณ์ครั้งที่ 21 ธ.ค.2554 ดีแทคได้จ่ายเงินชดเชยให้ลูกค้า 300-400 ล้านบาท

...

กสทช.ฟันดีแทคเครือข่ายล่ม ปรับก้อนโต 10 ล้าน

สำหรับดีแทค ได้เตรียมวงเงินในการชดเชยลูกค้าในครั้งล่าสุดไว้ 300 ล้านบาท และได้จ่ายชดเชยไปแล้ว 100 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนลูกค้า 3 ล้านเลขหมาย ชดเชยลูกค้าระบบพรีเพด (เติมเงิน) 80 นาที และระบบโพสต์เพด (รายเดือน) 100 นาที และได้ขยายเวลาให้ลูกค้าแจ้งว่าได้รับผลกระทบจากสัญญาณขัดข้องดังกล่าวจนถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 14 ก.ย.นี้ โดยมั่นใจว่าระบบจะรองรับการบริการลูกค้าที่แจ้งการชดเชยดังกล่าวได้

“ผมการันตีอนาคตคงลำบาก แต่จะทำทุกวิถีทางให้ลูกค้ามั่นใจ และในปีนี้ดีแทคได้ปรับปรุงโครงข่าย (อัพเกรด) และจะกำกับดูแลการทำงานให้เป็นไปตามขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้เกิดปัญหาอีก อย่างไรก็ตามปัญหาครั้งที่ผ่านมาถือเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทำให้ระบบล่ม ”

นายจอน กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ต้องให้ลูกค้าโทรเข้ามาในระบบไอวีอาร์ *1737 เพราะเห็นว่าระบบดังกล่าวสามารถรองรับลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และดีแทคสามารถตรวจสอบได้ว่าเกิดสาเหตุต่อลูกค้าเลขหมายใดบ้าง ซึ่งในวันเกิดเหตุ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้วมีลูกค้าดีแทคใช้งานทั่วประเทศราว 4.8 ล้านราย มีลูกค้าใช้งานได้ตามปกติ 3.2 ล้านเลขหมาย และลูกค้าที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถโทรเข้า-ออกได้โดยตรง 1.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งหากเทียบสัดส่วนอัตราการใช้งานต่อเลขหมายปกติของลูกค้าในแต่ละวันติอยู่ที่ 10 นาที ดังนั้น กรณีที่ดีแทคได้ชดเชยให้ลูกค้าไป 80 นาที สำหรับระบบเติมเงิน และ 100 นาที สำหรับระบบรายเดือน ก็ถือว่าชดเชยมากกว่าการใช้งานปกติหลายเท่าตัวแล้ว