ไมโครซอฟท์เปิดตัว Windows 8 พร้อมกันทั่วโลก 26 ตุลาคมนี้ หากมองเผินๆ มันคือ โอเอสตัวต่อมาจาก Windows 7 คนส่วนหนึ่งคิดว่า อีกสักพักเราก็คงเปลี่ยนจาก Windows 7 มาเป็น Windows 8 ตามวงรอบการอัพเกรด แต่การคิดแบบนี้มันผิด!!

ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้มีจุดประสงค์หรือเป้าหมายอันใดจะโจมตี Windows 8 นะครับ แต่ในฐานะคอลัมนิสต์ด้านไอทีที่ลองใช้ Windows 8 มาพักใหญ่ๆ แล้ว ผมคิดว่าเราควรจะตรงไปตรงมากับผู้บริโภค ซึ่งในที่นี้ก็คือผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์สักหน่อย

ข่าวใหญ่ที่สำคัญในรอบเดือนนี้คงเป็นข่าวว่าไมโครซอฟท์พัฒนา Windows 8 เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่มันยังไม่ขายจริงเพราะไมโครซอฟท์จะต้องส่ง Windows 8 ให้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทั้งหลายนำไปติดตั้งบนเครื่องเสียก่อน และจะเปิดตัวพร้อมกันทั่วโลก 26 ตุลาคมนี้ ซึ่งตอนนั้นคงเป็นข่าวใหญ่โตแน่นอน

ถ้ามองเผินๆ Windows 8 ถือเป็นระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ล่าสุดจากไมโครซอฟท์ นับรุ่นต่อจาก Windows 7 ที่หลายคนคงใช้งานกันอยู่แล้ว ดังนั้นมันก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดธรรมเนียม อีกสักพักเราก็คงเปลี่ยนจาก Windows 7 มาเป็น Windows 8 ตามรอบของการอัพเกรดทั่วๆ ไป

ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยว่า รอบนี้มันเป็นวิธีคิดที่ผิดครับ

Windows 8 นับรุ่นต่อจาก Windows 7 ก็จริง ตัวเลขเพิ่มมาอีกแค่หนึ่ง แต่คราวนี้ไมโครซอฟท์ปฏิวัติตั้งแต่ฐานราก จนเราอาจงงงวยว่าตกลงนี่มันเป็น “วินโดวส์” ที่เราคุ้นเคยมาหลายสิบปีจริงหรือเปล่า?

คอลัมน์ตอนนี้ผมจะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดครับ

...


ก่อนอื่นขอย้อนความสักเล็กน้อยว่า “วินโดวส์” ของไมโครซอฟท์ที่สืบทอดกันมายาวนานนั้นใช้วิธีการติดต่อกับผู้ใช้ที่เรียกว่า “เดสก์ท็อป” ซึ่งประกอบจากไอคอน หน้าต่าง เมนู ดังที่เราคุ้นเคยกันดี ผู้ใช้จะสั่งงานวินโดวส์ด้วยเมาส์และคีย์บอร์ด และดูผลลัพธ์จากหน้าจอ

วินโดวส์ใช้แนวทางแบบนี้มาตลอดไม่เคยเปลี่ยนแปลง เราเห็นการเปลี่ยนผ่านจาก Windows 95 มาเป็น Windows XP และไล่มาจนถึง Windows 7 ถึงจะมีฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเข้ามามากมาย เปลี่ยนโฉมหน้าตาให้สวยหรู มีแสงเงาสวยงาม แอนิเมชั่นพลิ้วไหวสักแค่ไหน แก่นของมันก็ยังใช้แนวคิดแบบ “เดสก์ท็อป” เช่นเดิม

แต่ยุคสมัยของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจอสัมผัส เริ่มคุกคามจนไมโครซอฟท์ต้องปรับตัว และ Windows 8 ก็ถือเป็นครั้งแรกที่ไมโครซอฟท์ออกแบบระบบปฏิบัติการใหม่หมดเพื่อรองรับการสั่งงานด้วยนิ้วสัมผัสแบบใหม่

ไมโครซอฟท์เลือกเก็บ “เดสก์ท็อป” แบบเดิมเอาไว้ (ของมันยังใช้ได้ดีก็ไม่ควรทิ้ง) และสร้างวิธีการติดต่อกับผู้ใช้แบบใหม่ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง โดยออกแบบให้เน้นการสั่งงานด้วยนิ้วเป็นหลักจริงๆ ผลคือหน้าจอแบบใหม่ที่ไมโครซอฟท์เรียกว่า “เมโทร” (Metro ชื่ออย่างเป็นทางการอาจเปลี่ยนแปลงได้)

เจ้า Metro คือสี่เหลี่ยมสีสันสดใสพร้อมไอคอนโทนสีเดียว ที่ไมโครซอฟท์นำมาโปรโมทอยู่บ่อยๆ นั่นล่ะครับ นี่คืออนาคตที่ไมโครซอฟท์กำลังจะมุ่งไป

หน้าจอ Start Screen แบบใหม่ของ Windows 8 ที่ใช้การออกแบบแนว Metro

ตัวอย่างแอพดูหุ้นบน Windows 8 ที่ใช้การออกแบบแนว Metro

Windows 8 เพิ่มโหมดการทำงานแบบ Metro เข้ามา เรามีหน้าจอใหม่ที่เรียกว่า Start Screen ใช้แทน Start Menu แบบเดิม หน้าจอนี้จะรวมไอคอนของโปรแกรมต่างๆ ที่สามารถขยับไปมาได้ แสดงสถานะอัพเดตได้ตลอดเวลา (ถ้าใครเคยจับมือถือตระกูล Windows Phone มาก่อน มันใช้แนวคิดแบบเดียวกันเป๊ะเลย)

นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังเพิ่ม “แอพ” แบบใหม่ที่ทำงานเต็มหน้าจอเหมือนแอพบนไอแพดหรือแอนดรอยด์ แอพพวกนี้ออกแบบด้วยแนวทาง Metro เน้นการใช้งานบนจอสัมผัสที่สั่งงานด้วยนิ้ว ไม่เน้นคีย์บอร์ดและเมาส์

ทั้งหมดรวมกันเป็น Windows 8 ครับ สรุปสั้นๆ อีกรอบว่า Windows 8 มีโหมดการทำงาน 2 แบบคือ เดสก์ท็อปแบบเดิม รันโปรแกรมเก่าๆ ของวินโดวส์ได้หมด และ Metro แบบใหม่ ที่ต้องใช้แอพแบบใหม่เท่านั้น

ผู้ใช้สามารถสลับไปมาระหว่างโหมดเดสก์ท็อปกับ Metro ได้ตามต้องการ

ปัญหาคือ Metro ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเมาส์และคีย์บอร์ด ดังนั้นถึงแม้ว่ามันจะทำงานกับเมาส์และคีย์บอร์ดได้ ผลก็ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร แถมไมโครซอฟท์ยัง “หักดิบ” ตัด Start Menu ของเดิมที่ออกแบบมาสำหรับเมาส์และคีย์บอร์ดทิ้งไป คนที่อยากเรียกโปรแกรมของวินโดวส์เดิมๆ ขึ้นมาทำงาน จำเป็นต้องเข้าไปยังหน้าจอ Start Screen (ที่ออกแบบด้วย Metro เพื่อนิ้วสัมผัส) เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะใช้เมาส์และคีย์บอร์ดก็ตามที

คนที่ย้ายจาก Windows 7 มายัง Windows 8 ย่อมพบอุปสรรคนี้แน่นอน และผมเชื่อว่าส่วนใหญ่จะไม่ชอบ บางคนอาจถึงขั้น “สาปส่ง” ไมโครซอฟท์ด้วยซ้ำ

นี่จึงเป็นที่มาของชื่อคอลัมน์ตอนนี้ว่า “Windows 8 ไม่เหมาะสำหรับทุกคน” นั่นเองครับ

อย่างที่บอกไปแล้วว่า Windows 8 ออกแบบมาโดยให้จอสัมผัสเป็นพระเอก อุปกรณ์ที่เหมาะกับมันจึงเป็นพวกแท็บเล็ตมากกว่าคอมพิวเตอร์จอไม่สัมผัส (ทั้งโน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ) อธิบายแบบง่ายๆ ได้อีกว่าไมโครซอฟท์ตั้งใจออกมาชนกับไอแพดนั่นแหละ

แต่เนื่องจากไมโครซอฟท์มีระบบเดสก์ท็อปแบบเดิมที่แข็งแกร่ง ใช้เป็นจุดขายเหนือไอแพดของแอปเปิลได้ (ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วคนใช้ไอแพดก็อยากให้มันใช้ Microsoft Office ตัวเต็มของไมโครซอฟท์ได้ เอาไว้ทำงานเอกสารยามต้องใช้) ไมโครซอฟท์เลยขายพ่วง “เดสก์ท็อป” มาด้วย

ขายพ่วงเฉยๆ ไม่พอ ไมโครซอฟท์ดันทำเรื่องให้มันซับซ้อน (อันนี้ต้องโทษไมโครซอฟท์นะครับ) แยก Windows 8 ออกเป็น 2 รุ่นใหญ่ๆ คือ รุ่นที่มีเดสก์ท็อปพ่วงมาด้วย กับรุ่นที่ไม่มี

...

แผนภาพแสดงความสัมพันธ์ของ Windows 8 รุ่นต่างๆ

จากแผนภาพจะเห็นกรอบสีน้ำเงินที่ผมวาดเอาไว้ อันนี้คือ Windows 8 รุ่นสมบูรณ์ สามารถทำงานได้ทั้งโหมดเดสก์ท็อปและ Metro รองรับโปรแกรมยุคปัจจุบันอย่าง Photoshop, Firefox, AutoCAD หรือเกม WarCraft ครบถ้วน (อะไรที่ทำงานบน Windows 7 ได้จะไปทำงานบนเดสก์ท็อปของ Windows 8 ได้ด้วย) มันแบ่งเป็น 2 รุ่นย่อยคือรุ่นมาตรฐาน (Standard) และรุ่นมืออาชีพ (Professional) ซึ่งมีฟีเจอร์ต่างกันไม่มาก ผมจะไม่ลงรายละเอียดในที่นี้เพราะจะยาวเกินไป

Windows 8 รุ่นสมบูรณ์ในกรอบสีน้ำเงิน ออกแบบมาสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ซีพียูของอินเทลเท่านั้น คอมพิวเตอร์ยุคปัจจุบันทุกตัวอยู่ในหมวดนี้ ดังนั้น คนที่มีโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่อยากใช้ Windows 8 จะต้องเลือกซื้อ Windows 8 Standard หรือ Pro มาติดตั้งเอง (ซึ่งผมอธิบายไปแล้วว่าอุปกรณ์พวกนี้ทำงานกับ Windows 8 ได้ไม่ดีเท่าไร)

อย่างไรก็ตาม นอกจากโน้ตบุ๊กหรือคอมตั้งโต๊ะแล้ว เราจะเริ่มเห็นอุปกรณ์แบบใหม่ๆ ที่เป็นลูกผสมระหว่างแท็บเล็ตกับโน้ตบุ๊ก นั่นคือหน้าจอสามารถถอดออกมาเป็นแท็บเล็ตได้ และถ้าต้องการพิมพ์งานหรือใช้งานเมาส์-คีย์บอร์ด ก็สามารถ “ประกอบร่าง” เข้ากับแผ่นคีย์บอร์ดกลายเป็นโน้ตบุ๊กธรรมดาได้ด้วย

อุปกรณ์แบบใหม่นี้จะเรียกว่า “แท็บเล็ตแบบไฮบริด” ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครทำออกมาขาย (รอ Windows 8 เปิดตัวเสร็จก่อน) ผมมองว่าเจ้านี่ล่ะครับคือไม้ตายของ Windows 8 เพราะมันรองรับทั้งสองโหมดการทำงาน ถ้าถอดมาแต่จอก็ใช้งานแอพแบบ Metro เหมือนกับใช้ไอแพดหรือแท็บเล็ตแอนดรอยด์ แต่เมื่อต้องทำงานจริงจังก็ประกอบร่างเป็นโน้ตบุ๊ก ใช้งาน Photoshop หรือเล่นเกมได้สบาย

แต่นั่นยังไม่จบครับ ไมโครซอฟท์ยังมี Windows 8 ชุดเล็ก ที่ทำงานได้เฉพาะโหมด Metro เอามาชนกับแท็บเล็ตที่วางขายอยู่ในท้องตลาดตอนนี้ด้วย ไมโครซอฟท์เรียกมันว่า Windows RT โปรดจำชื่อนี้ไว้ดีๆ เพราะจะได้ยินอีกบ่อยมากในอนาคต

Windows RT ออกแบบมาสำหรับแท็บเล็ตโดยเฉพาะ ฮาร์ดแวร์ที่ใช้ต้องเป็นหน่วยประมวลผลตระกูล ARM แบบเดียวกับที่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตทุกวันนี้ใช้งานอยู่ (รวมถึงไอโฟนและไอแพดด้วย) มันตัดโหมดการทำงานแบบเดสก์ท็อปออกไปเพื่อให้เบาเครื่องและประหยัดแบต ส่วนแอพที่เป็น Metro นั้นก็ออกแบบมาสำหรับจอสัมผัสอยู่แล้ว น่าจะทำงานได้ดีเมื่อใช้กับแท็บเล็ต

ดูไปแล้วเหมือนว่ามันจับตลาดเดียวกับไอแพดและแท็บเล็ตแอนดรอยด์ทั้งหลาย ซึ่งหลายคนอาจตั้งคำถามว่าถ้ามีไอแพดอยู่แล้ว ทำไมเราต้องเปลี่ยนไปใช้แท็บเล็ต Windows RT กันด้วยเล่า

ไมโครซอฟท์มีคำตอบเตรียมไว้ให้อยู่แล้ว โดยการแถม Microsoft Office 2013 ตัวใหม่ล่าสุดมากับ Windows RT ทุกตัว (จริงๆ อาจจะเรียกได้ว่าคิดราคารวมมาแล้วก็ได้) จุดขายของ Windows RT จึงเป็นแท็บเล็ตที่ใช้ Microsoft Office 2013 รุ่นพิเศษได้ด้วย (Word, Excel, PowerPoint, OneNote) รับรองว่าเปิดไฟล์เอกสารไม่มีเพี้ยน

นอกจากนี้ เพื่อการันตีว่า Windows RT บนแท็บเล็ตจะออกมาดี ไมโครซอฟท์จึงทำฮาร์ดแวร์ของตัวเองชื่อ Microsoft Surface มาขายด้วย (รายละเอียดอ่านได้จากคอลัมน์ตอนเก่าๆ) แต่ก็จะมีฮาร์ดแวร์แท็บเล็ตจากผู้ผลิตรายอื่นๆ อย่าง Dell, Lenovo, Samsung ให้เลือกซื้อด้วยเช่นกันในวันเปิดตัว


คลิปวิดีโอแสดงการทำงานของ Metro กับแท็บเล็ตแบบไฮบริด

จะเห็นว่าทั้ง Windows 8 รุ่นสมบูรณ์ (Standard, Professional) และ Windows 8 รุ่นแท็บเล็ต (Windows RT) ต่างมีกลุ่มเป้าหมายของตัวเองครับ รุ่นสมบูรณ์เน้นเจาะกลุ่มลูกผสมโน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ต ส่วน Windows RT เจาะตลาดแท็บเล็ตโดยเฉพาะที่มีจุดขายตรงแถม Microsoft Office มาให้ด้วย

ถ้าดูกันดีๆ แล้ว กลุ่มเป้าหมายของ Windows 8 ไม่ใช่โน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในปัจจุบันแม้แต่น้อย เท่าที่ผมลองใช้ Windows 8 ทั้งบนโน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะมาหลายเดือน ก็พบว่าแทบไม่ต่างอะไรจาก Windows 7 เลย มีฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเข้ามาเล็กน้อย และทำงานได้เร็วขึ้นเท่านั้น (ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี)

โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่า Windows 8 ไม่เหมาะสำหรับโน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในปัจจุบันสักเท่าไรนะครับ คนที่ใช้ Windows 7 อยู่แล้วจะใช้ต่อไปโดยไม่อัพเกรดก็ไม่มีปัญหาใดๆ ส่วนคนที่จะซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ในอนาคตอาจได้ Windows 8 มาให้เลย มันก็ใช้งานได้เหมือนกันแค่อาจไม่คุ้นกับหน้าจอ Metro เท่านั้นเอง

แต่คนที่คิดจะซื้อแท็บเล็ตช่วงปลายปีนี้ อาจมองแท็บเล็ต Windows RT ที่ขายในราคาใกล้เคียงกับไอแพดและแอนดรอยด์เป็นตัวเลือกด้วย (เพราะมันใช้ Office ได้) อันนี้ต้องรอสินค้าวางขายจริงๆ ก่อนแล้วจึงจะบอกได้ว่ามันใช้แล้วเวิร์กแค่ไหน

นอกจากนี้ คนที่คิดจะซื้อโน้ตบุ๊กใหม่ในช่วงนี้อาจดึงจังหวะรออีกสักระยะ เพราะสินค้าชนิดใหม่อย่างแท็บเล็ตแบบไฮบริดที่ใช้ Windows 8 Standard/Professional กำลังจะทำตลาดด้วยเช่นกัน (ไมโครซอฟท์จะออก Surface Pro สำหรับงานนี้ด้วย) ขอให้จับตาดูให้ดี เพราะถ้าสินค้ากลุ่มนี้ประสบความสำเร็จ มันอาจปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์แบบเดิมๆ ไปเลยก็เป็นได้

...

มาร์ค Blognone