ปธ.บอร์ด กทค. เผยเคาะราคาประมูลใบอนุญาต 3จี คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ วันนี้ (12 มิ.ย.) ตั้งราคาไม่เกิน 5,000 ล้านบาท/ใบ พร้อมสรุปสัญญา 3จี กสท ทรู ด้านทีดีอาร์ไอ เปรยราคาใกล้เคียงครั้งก่อนเพราะเป็นทรัพยากรประเทศ...
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ บอร์ด กทค. กล่าวว่า ในวันนี้ 12 มิ.ย.2555 การประชุมบอร์ด กทค.จะมีมติสรุปราคาเริ่มต้นการประมูลใบอนุญาตการให้บริการ หรือไลเซ่นส์ 3 จี คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เบื้องต้นคาดว่าไม่เกินใบละ 5,000 ล้านบาท หลังจากที่คณะอนุกรรมการ 3 จีได้เสนอมา
ประธาน กทค. กล่าวต่อว่า ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาเดิมที่เคยกำหนดไว้ที่ 1.25 หมื่นล้านบาทต่อความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์ แต่เนื่องจากการประมูลครั้งนี้แบ่งออกเป็น 9 ใบ ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น คาดว่าการประมูลครั้งนี้จะสร้างรายได้เข้ารัฐขั้นต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท
สำหรับรูปแบบการประมูลไลเซ่นส์ ที่คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 3 หรือเดือน ต.ค.2555 คือ การประมูลด้วยวิธีเพิ่มราคาทุกใบในเวลาเดียวกัน (Simultaneous ascending bid auction) ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่จะใช้ในครั้งที่แล้ว โดยจำกัดสิทธิ์ในการถือครองคลื่นความถี่ สำหรับผู้เข้าร่วมประมูลไว้ที่รายละ 20 เมกะเฮิรตซ์ หรือแต่ละรายสามารถประมูลได้ 4 ใบ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากที่สุด
นอกจากเรื่องราคาไลเซ่นส์ 3 จี แล้ว บอร์ด กทค.ยังพิจารณาผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการเรื่องสัญญาให้บริการ 3 จี ระหว่างกลุ่ม ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ที่มีนายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ เป็นประธาน และได้ข้อสรุปไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นว่าสัญญาดังกล่าวไม่ถูกต้องตามมาตรา 46 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. ที่ห้ามโอนสิทธิ์ในการใช้คลื่นความถี่ไปให้บุคคลอื่น
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นประมูลไม่ควรแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่กำหนดไว้ที่ 1.25 หมื่นล้านบาท สำหรับ 15 เมกะเฮิรตซ์ หรือใบละประมาณ 4,300 ล้านบาท เนื่องจากคลื่นความถี่ถือเป็นทรัพยากรของประเทศ รวมถึงการที่เอกชนจะโอนลูกค้าในระบบเดิมไปที่ระบบ 3จี แทนการจ่ายสัมปทานให้กับรัฐ ดังนั้น ผู้ที่ได้สิทธิ์ครอบครองควรต้องจ่ายผลตอบแทนรัฐในราคาสูง
...