กสทช.ทุ่มงบ 30-40 ล.บาท จัดประมูล 3จี ไตรมาส3 ยกเลิกสูตร N-1 ยังไม่เคาะบริษัทจ้างจัด เปิดกว้างต่างชาติเข้าประมูล แขวะใครขวางการประมูลครั้งนี้เหมือนเป็นศัตรูของชาติ...
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการสำนักงานกิจการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า หลังจาก กทค. ศึกษารูปแบบการจัดสรรคลื่นด้วยความรอบคอบแล้ว พบว่า ขณะนี้ กสทช.มีคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ โดยรูปแบบของการประมูลเดิมได้มีการกำหนดให้ใบอนุญาตความถี่ตายตัวที่ 15 เมกะเฮิรตซ์ต่อใบ หรือรวม 3 ใบอนุญาตเท่านั้น
กรรมการ กสทช. กล่าวต่อว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมการเปิดประมูลใบอนุญาตนั้น ที่ประชุมมีแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ที่มีจำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ โดยกำหนดแนวทางหลัก คือการเปิดให้ประมูลจำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ จะได้ 9 ช่อง จะทำให้เกิดการแข่งขัน และผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะการใช้คลื่นเพียง 5 เมกะเฮิรตซ์ สามารถใช้บริการได้ แต่หากเอกชนรายใดต้องการ 10 เมกะเฮิรตซ์ ก็สามารถประมูลเป็น 2 ช่วง หรือโดยสรุป คือ กทค.จะแบ่งออกช่วงเล็กๆ และให้เกิดการแข่งขันให้จำนวนความต้องการมีความสมดุลกัน
คาดการณ์ว่า ปลายเดือน เม.ย. 2555 จะสามารถสรุปวิธีการประมูลให้ละเอียดอีกครั้ง จากนั้นจะส่งวิธีการประมูลให้คณะทำงานได้คำนวณราคาเริ่มต้นการประมูล ว่าจะได้ราคาเริ่มต้นเท่าไหร่ที่จะต้องจ่ายให้ กสทช. ก่อนที่ กสทช. จะส่งต่อให้กระทรวงการคลังต่อไป
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า หลังจากประชุมคณะทำงานไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา มั่นใจว่าจะมีการประมูล 3จี ไม่เกินไตรมาส 3/2555 นี้แน่นอน นอกจากนี้ ยังเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเป็นคณะที่ปรึกษาอีกด้วย ซึ่งรูปแบบใหม่ที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมที่แบ่งเป็นช่วงๆ นั้น อาจจะต้องเปิดประมูลหลายรอบ แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการรายเล็กเข้าแข่งขันได้ โดยจะก่อให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้นโดยไม่ต้องลดจำนวนใบอนุญาต
สำหรับวิธีการประมูลใบอนุญาตแบบเอ็นลบหนึ่ง (N-1) นั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าให้ยกเลิกวิธีดังกล่าว เพราะถือเป็นการกีดกันรายอื่นๆ ที่ต้องการเข้าร่วมประมูล สำหรับเงื่อนไขการให้บริการเช่าโครงข่ายเพื่อให้บริการ 3 จี หรือ เอ็มวีเอ็นโอ นั้น ก็ยังคงให้บริการได้ แต่เงื่อนไขการใช้ความจุโครงข่ายนั้น อาจต้องปรับเปลี่ยนตามความต้องการ จากเดิมกำหนดไว้ของความจุโครงข่าย
ทั้งนี้ การประมูลแบบ N-1 ไม่มีประสิทธิภาพในการประมูล จะไม่ได้ใช้และทั่วโลกก็ไม่ใช้วิธีนี้กัน ซึ่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. เพราะกำหนดให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และห้ามกีดกันการเข้าถึงการใช้คลื่น ที่ระบุไว้ว่าต้องเป็นธรรม
“ตอนนี้ มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย ซึ่งจะเปิดโอกาสให้รายย่อยด้วย แต่ยังไม่มีความชัดเจน ถ้าต่างชาติจะเข้ามาก็ต้องทำตามขั้นตอนว่าด้วยเรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการ โดยคนต่างด้าว พ.ศ. 2554 แน่นอน ตอนนี้ก็พยายามอุดช่องโหว่ทั้งหมด พร้อมระบุว่าหากใครขัดขวางการประมูลครั้งนี้ เหมือนเป็นศัตรูของชาติ ขณะที่งบประมาณในการประมูลครั้งนี้ ตั้งไว้ที่ประมาณ 30-40 ล้านบาท บอร์ด กทค.สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องเข้าบอร์ดใหญ่ กสทช. อายุยังคงอยู่ที่ 15 ปี ต่อ 1 ใบอนุญาต” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
กรรมการ กสทช. กล่าวด้วยว่า จะให้คณะทำงานไปศึกษาว่าเมื่อเสร็จขั้นตอนการประมูล 3 จี นี้แล้ว กสทช.จะเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ต่อไปอย่างไร เนื่องจากคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์นั้น ถือว่าราคาไม่แพงเท่ากับคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ เพราะสามารถรองรับเทคโนโลยี 4 จี หรือสามารถนำไปให้บริการ 4 จีได้ จึงจำเป็นต้องนำข้อมูลการประมูล 3 จีไปประกอบกันทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การประมูลใบ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ปัจจุบันบริษัท ทรูมูฟ จำกัด กับบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่ถือคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ รายละ 15 เมกะเฮิรตซ์ จะหมดสัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ในปี 2556 นี้ โดย กสทช.จะต้องนำมาจัดสรรและเปิดประมูลย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จะต้องเปิดประมูลก่อนที่ใบอนุญาตจะ 6 เดือน.
...