อดีต รมว.ไอซีที จวก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ควบตั้งข้อสังเกตแถลงสัญญา 3จี กสท ทรู ยันผลที่ออกมามีธงการเมือง ถามกลับทำเพื่อประโยชน์กลุ่มชินฯ หรือไม่...
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ หรือ ปชป.อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการตรวจสอบสัญญา 3จี ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัททรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชุดที่มี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย เป็นประธานว่า ส่วนตัวขอตั้งข้อสังเกตต่อคณะกรรมการชุดนี้ว่า การที่ กสท ไม่สามารถซื้อกิจการฮัทชิสันได้นั้น เป็นเพราะรัฐมนตรีและทีมงานได้วางแผนกัน โดยสมัยที่ตนเป็น รมว.ไอซีที ตั้งใจซื้อในราคาที่ถูกคือ 4 พันล้านบาท จากราคาขาย 7.5 พันล้านบาท แต่คณะกรรมการกลับไม่มีการพูดถึงว่าสาเหตุที่มีการซื้อถูกนั้น มาจากการทักท้วงของกระทรวงคลังที่เห็นว่าการซื้อในราคาที่ 7.5 พันล้านบาทนั้นสูงเกินไป โดยกระทรวงการคลังระบุว่า ควรจะซื้อเพียงครึ่งราคา ซึ่งเมื่อตกลงราคากันไม่ได้จึงไม่มีการซื้อเกิดขึ้น
ทั้งนี้ อยากถามว่าการพบข้อพิรุธดังกล่าวเป็นเพราะมีการจัดซื้อในราคาถูกใช่หรือไม่ และ กสท ยกเลิกสัญญากับฮัทช์ ในระบบ ซีดีเอ็มเอ มาเป็นระบบ เอชเอสพีเอ ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยีใหม่ ที่จะรองรับระบบ 3จี และ 4จี ได้ กรณีนี้ประชาชนได้ประโยชน์ เพราะหากยังใช้เทคโนโลยีเก่าจะทำให้ กสท ขาดทุนปีละ 200 ล้านบาท แต่ขณะที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่สวนทางกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องการทำให้เอกชนมีความแข็งแรง แต่องค์กรภาครัฐอ่อนแออย่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กสท หรือไม่ ซึ่งเรื่องทั้งหมดมีธงการเมืองอยู่แล้ว
“ที่ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที แถลงออกมา คือ เอาเหตุมาประกอบผล ผมมีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัยว่า ผลสอบทำเพื่อตอบโจทย์การเมือง ถามต่อว่าการกระทำของ น.อ.อนุดิษฐ์ ที่ทำเป็นการทวงแค้นคืนให้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเปล่า ถ้าถามว่าถ้าปล่อยให้ กสท และทีโอที ล้มไป คุณต้องรับผิดชอบ ผมมีคำถามว่า กั๊กทั้ง 2 หน่วยงานนี้ ทำให้ใคร ให้กับบริษัทเอกชนรายใด ยืนยันว่าไม่ใช่ทรู และดีแทค” นายจุติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่า ในสมัยที่ตนเป็น รมว.ไอซีที นั้น ขั้นตอนทุกอย่างดำเนินการอย่างถูกต้อง โปร่งใส ถูกกฎหมายและตรวจสอบได้ อีกทั้ง ขั้นตอนต่างๆ ยังผ่านสำนักงานอัยการสูงสุดมาด้วย และตนพร้อมจะได้รับการตรวจสอบคณะกรรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.
ต่อข้อถามถึงการตรวจสอบย้อนหลัง นายจุติ ยืนยันว่าตนเป็นบุคคลสาธารณะ พร้อมชี้แจง และให้ตรวจสอบทุกเรื่อง เพราะทุกอย่างทำอย่างโปร่งใส ขณะเดียวกัน สงสัยว่าคณะกรรมการมีพิรุธเหมือนกัน ในส่วนที่ประธานคณะกรรมการตรวจสอบฯ เป็นคนเดียวกับคนที่ยุบพรรค ปชป. หรือไม่
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตไปถึงการทำหน้าที่ของ น.อ.อนุดิษฐ์ ว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้น กำลังคิดจะทวงแค้นแทนบริษัทชินคอร์ป หรือไม่ หลังจากที่สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้เกิดกรณีศาลฎีกามีการพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และก็รีบดำเนินการเรียกทรัพย์สินคืนจากบริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ป ทันที ตามคำพิพากษา ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับไม่ดำเนินการเรื่องนี้ต่อ พร้อมทั้งระบุว่า หากกลับมาเป็น รมว.ไอซีที อีกครั้ง จะทวงสมบัติของชาติคืน ซึ่งตอนนี้ หากปล่อยให้บริษัท เอกชนบางรายเข้ามาเพื่อการแข่งขันในธุรกิจ จะทำให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กสท มีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม มองว่าการทำงานของ รมว.ไอซีที เป็นไปเพื่อการสอดรับกับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะบริษัทในเครือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมฝากถามถึงนายกรัฐมนตรี ด้วยว่า ขณะนี้ หน่วยงานรัฐมีข้อพิพาทกับ บริษัทไทยคม และบริษัทชินคอร์ป แต่กลับตั้งผู้บริหารของทั้ง 2 บริษัท มาอยู่ใน ครม. ทั้งหมดเป็นการเอื้อประโยชน์ หรือทำเพื่ออะไรบางอย่างหรือป่าว นอกจากนี้ ในข้อสรุปของคณะกรรมการชุดนี้ ยังพบข้อพิรุธ ตรงคำกล่าวหาที่ตรงกับข้อมูลที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายในสภาฯ ครั้งที่ตนเป็น รมว.ไอซีที.
...