สตช.สั่งเข้มงวดอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วประเทศ ประกาศจับแน่ถ้ายังไม่เลิกใช้โปรแกรมและซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ล่าสุดจับ 2 ร้านเน็ตทั้งใน กทม.และปทุมธานี ตะลึงมูลค่าความเสียหายร่วม 2 ล้าน ด้านเจ้าของเสียงอ่อยวอนเจรจานอกศาล...

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ.ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมหมายค้นเข้าตรวจร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ไลค์ ตั้งอยู่ที่ย่านซอยอ่อนนุช 47 เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ พบเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 28 เครื่อง มีการลักลอบลงโปรแกรมเถื่อน เพื่อให้บริการกับลูกค้าทั่วไปอย่างเอิกเกริก โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 750,000 บาท โดยเจ้าของร้านให้การรับสารภาพว่า ได้ลงโปรแกรมเถื่อนเพื่อหาผลประโยชน์จริง อีกรายที่ถูกจับดำเนินคดีโดย บก.ปอศ. เป็นร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ในจังหวัดปทุมธานีชื่อ ร้านวอร์บคาเฟ่ ตั้งอยู่บน ชั้น 3 ห้างฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ถ.พหลโยธิน อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี โดย จนท.ตรวจค้นพบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการลงโปรแกรมละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวน 28 เครื่องเช่นกัน แต่มูลค่าความเสียหายจากการละเมิดสูงกว่าคดีที่แล้วประมาณ 800,000 บาท ทั้งนี้ เจ้าของร้านทั้งคู่จะถูกดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป เว้นแต่จะสามารถตกลงกับเจ้าทุกข์ คือ บริษัทซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ได้

ทางด้าน จนท.บก.ปอศ. เตือนร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วประเทศให้หลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ โดยจะมีการเข้าตรวจค้นแบบปูพรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกภาคของประเทศ และหากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2537 ว่าด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการขาย การถือครองเพื่อขาย หรือการนำเสนอขายโปรแกรมเหล่านั้น โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 800,000 บาท และศาลอาจมีคำสั่งให้ปิดกิจการของผู้กระทำความผิดได้

พ.ต.อ.ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ ผบ.บก.ปอศ.กล่าวว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียรายได้จากภาษี อากรในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล และยังเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาของต่างชาติ ผู้บริโภคมิได้ตระหนักว่า การกระทำดังกล่าวถือเสมือนการเป็นมิจฉาชีพที่ทำการขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ซึ่งบางครั้งซอฟต์แวร์ที่นำไปใช้เป็นการผลิตจากฝีมือของคนไทยด้วยกันนั่นเอง ทั้งนี้ ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อนทราบดีว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและมีบทลงโทษอย่างชัดเจนแต่กลับเพิกเฉยเสีย ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เมื่อถึงเวลานั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศสมาชิกจะต้องจัดการกับปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ผบ.บก.ปอศ. กล่าวอีกว่าในส่วนของ บก.ปอศ. เอง ก็จะมุ่งเน้นในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ โดยเมื่อไม่นานมานี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามความร่วมมือร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อจัดตั้งศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ประสานการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมให้ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับภาคเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้การละเมิดในพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษ (พื้นที่สีแดง) และพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง (พื้นที่สีเหลือง) ลดน้อยลง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศว่า ทางการจะจัดส่งตำรวจอย่างน้อย 5 ชุด ลงปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ภูเก็ต โดยตั้งเป้าหมายภายใน 2 เดือนจะสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ไม่น้อย กว่า 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมอบนโยบายให้ตำรวจในทุกพื้นที่ เข้มงวดกับการปราบปรามสินค้าละเมิดในพื้นที่

...