รมว.ไอซีที แถลงพบพิรุธ 5 ประเด็น การเซ็นสัญญา 3จี กสท ทรู แต่ไม่ฟันธงว่าผิด นั่งยันไม่กระทบลูกค้าทรูมูฟ พร้อมขอเวลา 3 วัน ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. และศาลตัดสินตรวจสอบข้อมูล ก่อนแถลงอีกรอบภายในสัปดาห์นี้...

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า ผลการสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงสัญญาการให้บริการ 3 จี ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สรุปว่าการทำสัญญาดังกล่าวมีข้อเท็จจริงและอาจเข้าข่ายผิด 5 ประเด็นหลักจากกฎหมายและประกาศรวม 9 ฉบับ

รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแยกประเด็นการตรวจสอบได้ 5 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1. เชื่อว่าฝ่ายการเมืองมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องเพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อการทำสัญญาดังกล่าว โดยสั่งให้ลดวงเงินการเข้าซื้อ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด หรือ ฮัทช์ จาก 7,500 ล้านบาท เหลือไม่เกิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฮัทช์ไม่ยอมขายให้ เปิดทางกลุ่มทรูเข้าควบรวมฮัทช์ได้โดยง่าย ประเด็นที่ 2. การยกเลิกสัญญาการให้บริการซีดีเอ็มเอใน 25 จังหวัดเดิม เพื่อเข้าสู่การให้บริการ 3จี เอชเอสพีเอ ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประเด็นที่ 3. การเดินเอกสารต่างๆ ที่จะต้องขออนุมัติจากกระทรวงไอซีทีในช่วงเวลานั้นมีการออกหนังสือล่วงหน้าและการยื่นเอกสารไม่ตรงตามหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประเด็นที่ 4. แม้ ครม.จะเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการใหม่ แต่ให้ กสท ขอความเห็นจาก สศช.และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่กลับปรากฏว่าการดำเนินงานของ กสท ไม่ผ่านความเห็นชอบจากทั้ง 2 หน่วยงาน และประเด็นที่ 5. หลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และประกาศ กสทช. ว่าด้วยการใช้และเช่าต่อโครงข่าย

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวอีกว่า กฎหมายและประกาศที่สัญญาดังกล่าวดำเนินการอย่างไม่ถูกต้อง ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญ 2550 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช.  มาตรา 46 และ 84 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544  พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ที่กีดกันผู้ให้บริการรายอื่นในการเข้าสู่ตลาด ระเบียบสำนักนายกเรื่องงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 2550

นอกจากนี้ ยังมีประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และประกาศ กสทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม  พ.ศ.2549 และประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

รมว.ไอซีที กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีข้อเสนอ 4 ข้ออยู่ระหว่างการพิจารณาสัญญา กสท-ทรู โดยขอเวลา 3 วัน หากได้ข้อสรุปอย่างไรจะแถลงให้ทราบอีกครั้งภายในสัปดาห์นี้  ซึ่งผลการสอบสวนสัญญา กสท-ทรู ออกมาในลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหน้าที่อื่นๆ ด้วยไอซีทีพร้อมที่จะนำเอกสารมอบให้กับสำนักงานป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พิจารณาด้วย พร้อมทั้งยืนยันว่า ลูกค้าปัจจุบันของทรูมูฟเอชจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จนกว่ากระบวนการตัดสินของศาลจะสิ้นสุด โดยไอซีทีจะสรุปว่าจะส่งเรื่องนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใดเพิ่มเติมอีก

“กระบวนการดำเนินการสั่งการมีการเร่งรีบ เพราะฉะนั้นเรื่องดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับโทรคมนาคม ส่วนตัวเห็นว่ากระทรวงไอซีทีเห็นชอบว่าจะเอาเรื่องทั้งหมดให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบแล้วพิจารณา โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

สำหรับ การทำสัญญาเพื่อดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ระหว่าง กสท-ทรู เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2554 เพื่อให้บริการ 3 จีบนคลื่นความถี่เดิมด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ ซึ่งเนื้อความในสัญญามี 2 ส่วน คือ สัญญาอนุมัติให้ทรู ดูแลลูกค้าผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอ 7 แสนเลขหมายของฮัทช์ หลังจากที่ทรู เข้าซื้อกิจการ ฮัทช์ ได้สำเร็จ เป็นระยะเวลา 2 ปี และสัญญาเช่าอุปกรณ์เอชเอสพีเอ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนโครงข่ายโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอในส่วนภูมิภาค 51 จังหวัด ให้เป็นโครงข่ายที่ให้บริการ 3 จี บนคลื่นความถี่เดิมด้วยเทคโนโลยีเอชเอสพีเอ โดยทรูสามารถเช่าใช้อุปกรณ์และสถานีฐาน เพื่อให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จีบนระบบเอชเอสพีเอแบบขายส่งและขายต่อบริการ (โฮลเซล-รีเทล) เป็นเวลา 14.6 ปี.

...