ช่วงที่ผ่านมาผมเขียนคอลัมน์ตามประเด็นข่าวไอทีใหญ่ๆ ในรอบสัปดาห์เป็นหลัก แต่คราวนี้จะขอเริ่มซีรีส์ยาวในชื่อว่า “สามก๊กไอที” นะครับ ซีรีส์นี้จะยาวหน่อย และเป็นรายสะดวก คือเขียนเฉพาะช่วงที่ไม่มีเหตุการณ์สำคัญ แต่จะพยายามให้ต่อเนื่องมากที่สุดครับ...
“สามก๊กไอที” เป็นแนวคิดของผมเองที่ใช้เปรียบเทียบกับวงการไอทีในเมืองนอก นับจากนี้ไปอีกสัก 5-10 ปี โดยผมมองว่าโลกไอที (ฝั่งคอนซูเมอร์ ไม่รวมฝั่งองค์กร) จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้วใหญ่ และดุลอำนาจกันไปแบบนี้อีกพักใหญ่ ซึ่งสถานภาพจะคล้ายกับประวัติศาสตร์ช่วงสามก๊กของจีนมาก
3 ขั้วที่ว่านี้ได้แก่
ไมโครซอฟท์ เทียบได้กับ “วุยก๊ก” ของโจโฉ
แอปเปิล เทียบได้กับ “ง่อก๊ก” ของซุนกวน
กูเกิล เทียบได้กับ “จ๊กก๊ก” ของเล่าปี่
ทั้ง 3 องค์กรนี้มีรากเหง้าความเป็นมาที่แตกต่างกัน มีจุดเด่น และรากฐานที่ต่างกันออกไป แต่ต่างฝ่ายต่างต้องการขยายอาณาเขตของตัวเองไปกินแดนตรงข้าม และพยายามดูดก๊กเล็กๆ มาร่วมงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งต่อไปเรื่อยๆ
ปัจจัยที่ทำให้เกิด “สามก๊กไอที” เกิดมาจากสภาวะของวงการคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เราเปลี่ยนจากยุคที่ใช้คอมพิวเตอร์พีซีตั้งโต๊ะแบบเดี่ยวๆ มาเป็นยุคที่ใช้อุปกรณ์แปลกใหม่อย่างมือถือ-แท็บเล็ต เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์แล้ว
ผมมองว่าคอมพิวเตอร์ในยุคก่อนที่เป็น “คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ” เทียบได้กับราชวงศ์ฮั่นของจีนโบราณ ซึ่งเป็นราชวงศ์ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ในช่วงสามก๊กนั่นเอง
จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นผู้ครอบครองตลาดคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะอย่างเบ็ดเสร็จ คือ “บิล เกตส์” แห่งไมโครซอฟท์ในยุคแรก แต่ตอนนี้บิล เกตส์ จากไมโครซอฟท์ไปทำอย่างอื่นแล้ว และตอนนี้ไมโครซอฟท์ก็กลายร่างตัวเองเป็นไมโครซอฟท์ยุคใหม่ 2.0 ใต้เงาของร่างเดิม เฉกเช่นเดียวกับ “วุยก๊ก” ของโจโฉที่สืบทอดพลังของอาณาจักรฮั่นมานั่นเอง
ส่วนแอปเปิลก็เทียบได้กับ “ง่อก๊ก” ของตระกูลซุน ที่มีฐานที่มั่นอยู่ทางใต้ อยู่ห่างไกลจากนครหลวงเดิม เทียบได้กับแอปเปิลเดิมที่มีฐานผู้ใช้กลุ่มเฉพาะ เช่น งานด้านกราฟิกและสิ่งพิมพ์ แต่เมื่ออาณาจักรฮั่นเริ่มอ่อนแอ ง่อก๊กก็ขยายอาณาเขตออกมาด้วยอาวุธใหม่ๆ ที่เข้าเป้าติดต่อกันอย่าง iPod, iPhone และ iPad นั่นไงครับ
ที่เหมือนไปยิ่งกว่านั้นคือ ขุนพลผู้สร้างก๊กให้ผงาดขึ้นมาอย่าง สตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิตไปแล้ว อันนี้เทียบได้กับ “ซุนเซ็ก” หรือ “จิวยี่” ก็ได้ (จิวยี่อาจเหมือนกว่าหน่อยเพราะป่วยเหมือนกัน) ต้องรอดูว่า “ซุนกวน” ผู้สืบทอดอย่าง ทิม คุก ซีอีโอคนปัจจุบัน จะพาอาณาจักรไปได้ไกลแค่ไหน (ถ้าเรายึดตามโมเดลของสามก๊ก ซุนกวนพาไปได้ไกลกว่ารุ่นพี่ๆ เสียอีก)
ก๊กสุดท้าย “จ๊กก๊ก” เทียบได้กับกูเกิล เพราะก่อตั้งทีหลังสุด ไม่มีรากเหง้าอย่างคู่แข่งร่วมยุคสมัยทั้งสอง แต่กูเกิลก็ใช้ความสามารถเฉพาะตัว เบียดขึ้นมาเป็นหนึ่งในสามขั้วอำนาจได้สำเร็จ และก็ขยายอาณาเขตของตัวเองออกในหลายแนวรบ เช่น ฝั่งมือถือมี Android, ฝั่งระบบปฏิบัติการมี Chrome OS
ผู้บริหารหลักของกูเกิลยังมี 3 คนพอดิบพอดี นั่นคือ สองผู้ก่อตั้ง ลาร์รี เพจ และ เซอร์เกย์ บริน บวกหนึ่งอดีตซีอีโอ คือ อีริค ชมิดท์ (ปัจจุบันลาร์รี เพจ ขึ้นเป็นซีอีโอแทนแล้ว) เทียบไดักับ “คำสาบานในสวนท้อ” ของ เล่าปี่-กวนอู-เตียวหุย ไงครับ
แน่นอนว่าสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในยุคนี้ ย่อมไม่เหมือนกับเหตุการณ์ในสามก๊กแบบเป๊ะ (เหมือนก็เว่อร์แล้ว) แต่ผมพยายามนำมาเทียบกันให้เห็นภาพ และได้อรรถรสในการเล่าเรื่องมากขึ้น ซึ่งเดี๋ยวจะค่อยๆ เล่าต่อไปในตอนหน้าครับ.
...
มาร์ค Blognone