ตามดูพลังบวกคนไอที ดึงประโยชน์เทคโนโลยีหวังช่วยผู้เดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม ทั้งระบบ TVIS โทรศัพท์อัตโนมัติให้ข้อมูลน้ำท่วม-จราจร เว็บ thaiflood ศูนย์กลางของผู้ใช้โซเชียลฯ และการใช้โซเชียลรายงานข่าวท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องการความรวดเร็ว...

ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ธรรมชาติ ธารน้ำใจที่หลั่งไหลไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าคนไทยไม่เคยทอดทิ้งกัน เช่นเดียวกับโลกเทคโนโลยี ที่หลายภาคส่วนได้พัฒนาเทคโนโลยีและใช้ช่องทางออนไลน์เป็นสื่อในการทำประโยชน์และช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน...

เทคโนโลยี-โซเชียลฯ รวมน้ำใจ ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย



ดร.อนันต์ลดา โชติมงคล
นักวิจัย 1 ห้องปฏิบัติการวิจัยมนุษยภาษา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เล่าให้ฟังว่า TVIS เป็นระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ ทำหน้าที่เหมือนคอลล์เซ็นเตอร์อัตโนมัติ เช่นเดียวกับของหน่วยงานต่างๆ ที่ใช้ให้ข้อมูล เนื่องจากข้อมูลต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การใช้คนอัดเสียงจึงอาจทำให้เสียเวลา เนคเทคจึงพัฒนาโปรแกรมสังเคราะห์เสียงพูดที่เรียกว่า วาจา สำหรับแปลงข้อมูลข่าวสารที่เป็นตัวอักษรให้เป็นไฟล์เสียงโดยอัตโนมัติ ซึ่งแบ่งเป็นหมวดต่างๆ 5 หมวด ได้แก่ สถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ สถานการณ์น้ำท่วมในต่างจังหวัด สถานที่รับบริจาคสิ่งของ สิ่งของที่ผู้ประสบภัยต้องการ และเบอร์โทรฉุกเฉิน โดยในแต่ละหมวดจะมีการอัพเดทข่าวสารต่างๆ ทั้งจากทวิตเตอร์หรือเว็บไซต์อื่นๆ อยู่ตลอด เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้ใช้ได้เลือกรับฟัง

...

เทคโนโลยี-โซเชียลฯ รวมน้ำใจ ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย



โดยปกติระบบ TVIS มีไว้เพื่อรายงานและให้ข้อมูลสภาพจราจร ซึ่งเชื่อมต่อมาจากเว็บไซต์ traffy.nectec.or.th เนคเทคจึงพัฒนาและเพิ่มเติมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพื่อปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวเริ่มใช้งานมาประมาณ 1 ปี โดยแบ่งเป็นส่วนที่แปลงเสียงพูดให้เป็นข้อความและแปลงข้อความเป็นเสียงพูด ทำให้ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย คล้ายกับการฟังรายงานข่าวตามสถานีวิทยุทั่วไป

ดร.อนันต์ลดา ยังเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้ มีผู้โทรฟังข้อมูลจากระบบ TVIS ประมาณ 50-100 ครั้งต่อวัน ส่วนปริมาณการรับฟังข้อมูลจราจร โดยเฉพาะช่วงที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองนั้น จำนวนผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นเป็นหลายร้อยครั้งต่อวัน และมีผู้ใช้มากถึง 4,000 ครั้ง ภายในช่วงเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับการต่อยอดนั้น เนคเทคอยู่ระหว่างการพัฒนาใน 2 แนวทาง คือ ร่วมกับหน่วยงานที่มีศูนย์คอลล์เซ็นเตอร์อยู่แล้ว เพื่อให้บริการข้อมูลจราจรโดยรอบสถานที่นั้นแก่ลูกค้าที่จะเดินทางมาใช้บริการ ด้วยการเชื่อมระบบ 2 ระบบเข้าด้วยกัน เช่นการเชื่อมต่อข้อมูลจราจรจากหน่วยงานที่ต้องการเข้ากับระบบคอลล์เซ็นเตอร์ของลูกค้า และเป็นส่วนเสริมให้หน่วยงานที่มีการรายงานหรือสภาพจราจร

เทคโนโลยี-โซเชียลฯ รวมน้ำใจ ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย



ส่วนความสามารถของระบบ TVIS นั้น ขณะนี้มีการรับสมัครสมาชิกเพื่อจดจำเสียงและสร้างเส้นทางที่ใช้เป็นประจำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่โทรฟังข้อมูลเส้นทางเดิมเป็นประจำ และการแจ้งเตือนอุบัติเหตุผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีอุบัติเหตุ โดยผู้สนใจสามารถสมัครและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tvis.nectec.or.th

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถโทรไปรับฟังข้อมูลต่างๆ ทั้งเหตุอุทกภัยและสภาพจราจรได้ที่ หมายเลข 02-5657007 ได้ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยระบบจะคิดค่าบริการตามโปรโมชั่นที่ใช้งาน


ด้าน นายพัชร เกิดศิริ หนึ่งในตัวแทนภาคประชาชน ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) และทีมงานเว็บไซต์ thaiflood.com หรือ @iPttt ในทวิตเตอร์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นเว็บไซต์ thaiflood ให้ฟังว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะทวิตเตอร์ ทำให้ทีมงานเว็บไซต์กระปุกดอทคอม (www.kapook.com) นำโดย นายปรเมศร์ มินศิริ เกิดแนวคิดจัดความสำคัญของข้อมูลโดยการจัดตั้งเว็บไซต์ thaiflood (www.thaiflood.com) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลระหว่างผู้ใช้โซเชียลมีเดียซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีที สายด่วน 1111 และความร่วมมือจากกูเกิลในการปักหมุดบนแผนที่เพื่อแสดงพื้นที่น้ำท่วม ซึ่งตนเองได้นำรายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ดังกล่าวมาเผยแพร่ผ่านบล็อกส่วนตัว (www.ipattt.com) เพื่อขยายการรับรู้ด้วย

@iPttt แสดงความเห็นว่า จุดเด่นในการกระจายข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ทำให้ผู้ใช้สามารถรับทราบได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ข้อมูลเหล่านั้นยังมีมูลค่าภายในตัวเองเมื่อถูกรีทวิตอีกด้วย ทำให้ผู้ใช้ต้องการแจ้งข่าวด้วยความรวดเร็วโดยเฉพาะข่าวใหม่ที่ยังไม่มีผู้อื่นรู้ ส่วนเฟซบุ๊กมีจุดเด่นด้านการจัดการข้อมูลและสามารถใส่รายละเอียดหรือรูปภาพเพิ่มเติมได้ แต่มีจุดอ่อนที่ต้องเพิ่มเป็นเพื่อนหรือกดถูกใจ จึงจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ ขณะที่ทวิตเตอร์จะเปิดกว้างมากกว่า แต่เมื่อนำคุณสมบัติจากทั้ง 2 สังคมออนไลน์มารวมกัน ก็จะทำให้สามารถใช้งานได้ครอบคลุมขึ้นโดยเฉพาะเมื่อมีศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล ทั้งยังสามารถจัดการและตรวจสอบข้อมูลได้มีประสิทธิภาพกว่า

ขณะนี้ เว็บไซต์ thaiflood เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดีย แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายแต่ทีมงานก็มีแผนจัดตั้งหน่วยงานภาคประชาชนเพื่อฟื้นฟูและให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป ที่ผ่านมา ทีมงานได้รับข้อมูลจากอาสาสมัครซึ่งเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ได้ลงพื้นที่ประสบภัย ทำให้มีผู้สนใจและรีทวิตข้อความเป็นจำนวนมาก ทำให้ทราบความต้องการที่แท้จริงของผู้ประสบภัยในพื้นที่ว่าต้องการสิ่งจำเป็นใดอย่างเร่งด่วน

...

เทคโนโลยี-โซเชียลฯ รวมน้ำใจ ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย



“ในยุคโซเชียลมีเดีย เราไม่จำเป็นต้องเป็นองค์กรอาสาสมัครขนาดใหญ่ถึงจะระดมทุนได้ แต่ต้องอาศัยความโปร่งใสมากพอในการทำบัญชีและผลักดันให้เกิดกระบวนการด้วยตัวเอง ภายใต้ข้อดีของโซเชียลมีเดียที่ทำให้คนเพียงคนเดียวสามารถดูแลภาพรวมได้” นายพัชร กล่าว

@iPttt ยังแนะนำผู้ใช้โซเชียลมีเดียอีกว่า ในโลกโซเชียลมีเดียมีการหลอกลวงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ผู้ใช้ควรตรวจสอบข้อมูลหรือตัวตนของบุคคลนั้นๆ ให้ชัดเจนด้วย หากเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์ก็ควรตรวจสอบจากการเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าเป็นผู้ที่เริ่มใช้ก็จำเป็นต้องได้รับการแนะนำจากผู้ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือด้วย

ขณะที่ นางสาวศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย หรือ @sresuda ในทวิตเตอร์ เล่ารายละเอียดการใช้โซเชียลมีเดียให้ฟังว่า ในฐานะผู้สื่อข่าวที่มีการลงพื้นที่ การรายงานข่าวผ่านโซเชียลมีเดียถือเป็นช่องทางที่มีความรวดเร็วในการนำเสนอ ทำให้ผู้ติดตามสามารถรับทราบได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ทั้งผู้สื่อข่าวและประชาชนก็ยังสามารถรับทราบข่าวสารจากบุคคลที่อยู่ต่างพื้นที่ผ่านโซเชียลมีเดียได้อีกด้วย ยกตัวอย่าง แพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจ.นครราชสีมา ใช้ทวิตเตอร์แจ้งว่าเกิดเหตุน้ำท่วม ทำให้ผู้ที่อยู่นอกพื้นที่ทราบอย่างรวดเร็ว แม้จะมีเพียงไม่กี่องค์กรที่มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้สื่อข่าวใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่การกระจายข้อมูลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กตามช่องทางที่ตนเองใช้ก็ถือเป็นข้อมูลปฐมภูมิประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่เกิดเหตุการณ์หรือภัยพิบัติต่างๆ

“โซเชียลเน็ตเวิร์กก็ไม่ได้เหมาะกับข่าวทุกประเภท บางครั้งความรวดเร็วในการนำเสนออาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ในฐานะสื่อมวลชนก็ต้องรู้จักแก้ไขให้รวดเร็ว โดยส่วนตัวมองว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กสอนให้มีความรับผิดชอบและรู้จักแก้ปัญหาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แม้จะมีคุณสมบัติที่ทำให้เราสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วก็ต้องไม่ลืมว่าในระยะเวลาสั้นๆ ข้อความเหล่านั้นก็สามารถกระจายไปได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน” นางสาวศรีสุดา กล่าว

...

เทคโนโลยี-โซเชียลฯ รวมน้ำใจ ซับน้ำตาผู้ประสบอุทกภัย



สำหรับข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดียนั้น มองว่าเกิดขึ้นได้ทั้งผู้สื่อข่าวและผู้ใช้ทั่วไป เนื่องจากไม่มีการการันตีความถูกต้องของข้อมูล แต่จะมีเพียงการการันตีจากการเป็นที่รู้จักโดยตัวบุคคล ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่มีชื่อเสียงจะไม่นำเสนอข้อมูลในทางที่ผิดหรือไม่เป็นความจริงเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของตนเอง

โซเชียลมีเดียถือเป็นสื่อในสังคมออนไลน์ที่สามารถกระจายไปยังบุคคลอื่นได้โดยง่าย ดังนั้น ก่อนจะส่งหรือพิมพ์ข้อความจึงควรพิจารณาให้ดี แม้สื่อดังกล่าวจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยใช้ แต่ไม่ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย อย่างไรก็ตาม อยากฝากให้ผู้ใช้ทุกคนควรระมัดระวังและตระหนักให้มากว่าโซเชียลมีเดียสามารถขยายและกระจายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

ยอมรับว่าได้เห็นพลังบวกของคนบนโลกไอทีแล้วชื่นใจ ดีกว่าพวกลิ้น เหลือบ ไร ที่จ้องแต่จะนำประโยชน์ไปแปลงให้เป็นโทษเป็นภัยเพื่อใช้ในทางที่ผิด นอกจากช่องทางที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ คุณก็สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ง่ายๆ เพียงส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยพิมพ์คำว่า น้ำใจไทย หรือ namjaithai แล้วส่งไปที่หมายเลข 4567899 เพื่อบริจาคข้อความละ 10 บาท สมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั่วประเทศ...

...

ทีมข่าวไอทีออนไลน์

Itdigest@thairath.co.th