นายปรเมศร์ มินศิริ เจ้าของเว็บกระปุก ปิ๊งไอเดียช่วยภัยน้ำท่วม ควงนายปรีดา ลิ้มนนทกุล ดูแลบล็อกลงขัน ก่อนคล้องแขนคนไซเบอร์ร่วมบริจาค ให้ข้อมูลซับน้ำตาพี่น้องหลังคาจม ผ่านเว็บ thaiflood.com…
“คนไทย ไม่ทิ้งกัน” ประโยคขลังที่อยู่ตราตรึงพี่น้องชาวไทย ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย และจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาทุกคนแล้ว เพราะนอกจาก รัฐบาล หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนทั่วสารทิศ รวมถึงสื่อมวลชนแล้ว คนในโลกไซเบอร์อย่างนายปรเมศร์ มินศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ จำกัด เจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอทคอม (www.kapook.com) ก็ไม่รอช้ารีบเปิดเว็บ www.thaiflood.com ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเช่นกัน
นอกจากนี้ ในบทบาทของผู้นำแล้ว นายปรเมศร์ยังชักชวนให้ นายปรีดา ลิ้มนนทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีดับบลิวดี เอาท์ซอส เมเนเมนท์ จำกัด (ผู้ทุพพลภาพมืออาชีพ) ร่วมเป็นทีมงานจัดทำบล็อก ร่วมลงขันซื้อเรือ ซึ่งเกิดจากทุนของการรู้จักสร้างความน่าเชื่อถือ ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค ส่วนขั้นตอนการดำเนินงาน และวัตถุประสงค์การช่วยเหลือ จะเป็นอย่างไร เชิญติดตามได้ ณ บัดนี้...
It Digest : จุดเริ่มต้นการเปิดเว็บ thaiflood.com
ปรเมศร์ : จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย ครั้งนี้ ถือว่าเป็นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปีของหลายๆ เพราะพื้นที่จมอยู่กับน้ำโดยที่ไม่ทันเตรียมตัว ทำให้เกิดความเสียหายตามมามากมาย โดยเฉพาะประชาชน ที่ต้องประสบปัญหาไร้ที่อยู่อาศัย และขาดแคลน อาหารสิ่งของอุปโภคบริโภค จึงเกิดแนวคิดหาช่องทางเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จนได้เปิดเว็บดังกล่าวขึ้นมา
...
It Digest : ข้อมูลเกี่ยวกับเว็บ thaiflood.com
ปรเมศร์ : พยายามจะลงหมายเลขโทรศัพท์คนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ที่ไม่ใช่ช่องทางหลัก และช่องทางการขอความช่วยเหลือแบบระดับรากหญ้าอย่างช่วงที่ผ่านมา และระดมซื้อเรือท้องแบน แล้วนำไปบริจาคให้กับจุดที่ต้องการ และการช่วยเหลือยังไปไม่ถึง ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า มีอีกหลายจุดที่เรือไปเกิน ขณะเดียวกัน ก็มีอาสาสมัครอีกหลายคน ที่ขอใช้ช่องทางเว็บ thaiflood ในการระดมเงิน ซึ่งก็ต้องตรวจสอบ ว่าใครทำอะไรบ้าง เช่น การซื้อเครื่องเรือในราคา 5,000 บาท ไปติดกับเรือที่มีอยู่แล้ว คืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเฉพาะเจาะจงแล้วคิดสื่อหลักอาจจะไม่ได้ครอบคลุมถึงมากนักเว็บ thaiflood ก็จะเป็นช่องทางกระจายกำลังในการช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน เว็บthaifloodเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเป็นศูนย์กลางรายงานสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พร้อม ประสานงาน แจ้งข่าว ขอความช่วยเหลือ และเชื่อมต่อยังทุกๆน้ำใจที่ไหลหลั่ง ระดมความช่วยเหลือทุกรูปแบบ กับผู้ประสบภัยในครั้งนี้ เราคนไทยไม่เคยทอดทิ้งกัน และพลังแห่งน้ำใจ ไม่เคยเหือดแห้งหายไปจากสังคมไทย
It Digest : กระบวนการทำงานของเว็บ thaiflood.com
ปรเมศร์ : กระบวนการแรก คือ การเชิญชวนให้คนในทวิตเตอร์ เวลาให้ข่าวเรื่องน้ำท่วมให้ใส่เครื่องหมาย #thaiflood และทางเว็บก็ทำสำเร็จ เพราะมีคุณหมอที่โคราช จ.นครราชสีมา ใช้คนแรก พอทำสำเร็จข้อมูลที่ทวิตออกไปก็จะเป็นระเบียบ เราก็ขึ้นเว็บ thaiflood.com เอาข้อมูลขึ้นไป หลังจากนั้นก็จัดหาอาสาสมัครทำแผนที่ เพื่อให้เห็นภาพรวม แล้วจัดทีมรวบรวมข้อมูล เพราะข้อมูลจะหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ ที่ทวิตเตอร์เยอะมาก ทั้งนี้ จะพยายามเอาข้อมูลคนในพื้นที่ขึ้นเยอะที่สุด และตอนนี้ ก็เริ่มทำการจับคู่ความต้องการ ไปยังคนที่มีของ หรือ คนที่มีความต้องการจะบริจาค
It Digest : จุดเริ่มต้นของการร่วมงาน
ปรีดา : กำลังคิดอยู่ว่า การช่วยเหลือนั้น สำหรับคนพิการรุนแรงจะทำอะไรได้บ้างไม่นาน นายปรเมศร์ ก็โทรมาถามว่าว่างหรือไม่ จะขอความช่วยเหลือทำเว็บ thaiflood โดยเริ่มจาก ความต้องการผลักดันเรื่องเงิน และให้โจทย์มาว่า ต้องทำบล็อก และทำให้เร็วด้วย จึงใช้เวลาประมาณ1 ชม. จากเดิมที่เล่น ทวิตเตอร์ไม่เป็น มีเพียงแค่สมัคร แต่ไม่เคยอัพเดตอะไรเลย ก็มานั่งศึกษาวิธีการ ขณะที่ มองว่าทวิตเตอร์ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้มือถือมากกว่า เฟซบุ๊กอยู่แล้ว
It Digest : หน้าที่รับผิดชอบ
ปรีดา : หลังจากทำบล็อกก่อน แล้วส่งลิงก์ของบล็อกกับหมายเลขบัญชีให้ โดยก่อนหน้านี้ ไม่ได้คุยกัน แต่เป็นคนทำงานจึงรู้ว่า ต้องทำอะไรบ้าง ก็เริ่มจาก บอกข้อมูล ว่าคุณส่งเงินมาแล้วต้องส่งแฟกซ์มา ส่งอีเมล์มา หรือ ทวิตเข้ามา เพื่อเก็บบันทึก ว่าผู้ที่ส่งมาเป็นใคร และตรวจสอบยอดเงินตลอดเวลา โดยเริ่มเปิดรับบริจาควันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันแรก ส่วนตัวจะทำหน้าที่สรุปยอดเงินบริจาคทั้งหมด ดูความเคลื่อนไหว และสรุปเงินเป็นรายวัน
It Digest : มุมมองที่มีต่อการช่วยเหลือผ่านอินเทอร์เน็ต
ปรเมศร์ : อย่างน้อยมันทำให้เห็นว่าคนไทยลุกขึ้นมาช่วยได้ทุกคน แล้วเครื่องมืออย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนธรรมดา มีความสามารถในการช่วยเหลือได้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านข้อมูล เพราะสามารถรายงานขึ้นมาจากมือถือก็ได้ เพราะฉะนั้น จะสังเกตได้ว่า คนที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็น กับไม่เป็นการใช้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของความสามารถในการช่วยเหลือ สามารถช่วยได้ด้วยการ ทวีตข้อความ และใส่เครื่องหมาย thaiflood และประสานงานได้เลยในเว็บ thaiflood ว่าสามารถช่วยอะไรได้บ้าง
It Digest : ข้อดีการช่วยน้ำท่วม ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต
ปรีดา : เชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่าถ้าดูจากออฟไลน์ ทุกคนจะเทไปทางสื่อโทรทัศน์ช่อง 3 ถ้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็มี 3 เครือข่าย บนอินเทอร์เน็ตเว็บ thaiflood น่าจะตอบโจทย์ได้ในช่วงเวลานี้ และเครือข่ายของกระปุก ก็มีมากอยู่แล้ว ผ่านสมาคมผู้ดูแลเว็บ และย้ำว่า คนที่จะทำตรงนี้ได้ ต้องมีความน่าเชื่อถือทางอินเทอร์เน็ต และส่วตัว ไม่ได้ทำการค้า และมีเครดิตกับคนที่เข้ามาติดต่อตลอดเวลาอยู่แล้ว
It Digest : ความน่าเชื่อถือในการร่วมบริจาคผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต
ปรเมศร์ : ส่วนตัวคิดว่า ถ้าในโซเชียลเน็ตเวิร์ค ต้องอาศัยว่า คนที่จะบริจาคจะบริจาคกับคนที่รู้จักอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการรู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว ก็จะเป็นทุนของสังคมอย่างหนึ่งของคนเรา เช่น คนที่รู้จักกันมาก่อนหน้านี้ 1 ปี ก็จะวางใจในการระดมเงินไปช่วยซื้อของช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพราะเงินจำนวนเท่านี้อาจจะคิดว่าไว้ใจให้เขาไปทำได้ ขณะเดียวกัน ก็จะเน้นเรื่องความโปร่งใสเป็นหลัก ว่า เงินที่ระดมไป ระบุเลยว่า รับจากใคร เมื่อไร แล้วถูกนำไปซื้อ และเรือก็ต้องเขียนชื่อกำกับว่า thaiflood#1 thaiflood#2 เพื่อให้รู้ว่าเรือลำนี้บริจาคโดยใคร และจอดอยู่ที่ไหน
It Digest : วิธีการป้องกัน ผู้แอบอ้างการตั้งรับบริจาคบนโลกไซเบอร์
ปรเมศร์ :ส่วนตัวยังไม่เคยเห็นการกระทำลักษณะนี้ แต่ที่สุดแล้วโดยส่วนตัวต้องการให้เงินไปอยู่ที่ความช่วยเหลือจริงๆ
It Digest : คำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผ่านเว็บ
ปรเมศร์ : ก่อนจะบริจาคที่ไหนก็แล้วแต่ ควรตรวจสอบให้ดีก่อนว่า ผู้รับเป็นใคร มีกระบวนการซื้อของบริจาคอย่างไร ซื้อแล้วถ่ายรูปให้ดู เป็นจริงตามนั้น หรือไม่ และของไปถึงใครด้วย เพราะน่ากลัวว่าจะนำไปขายต่อ หรือ บางคนอาจจะเคยเจอกรณีที่ของไปถึงที่แต่ไม่ถึงมือคนที่เดือดร้อน วึ่งน่าเป็นห่วงมากกว่า
It Digest : ขอบเขตการช่วยเหลือ
ปรเมศร์ : ขณะนี้ พยายามจะกระจายไปให้ทั่วทุกจังหวัด แต่ว่า thaiflood เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะฉะนั้นความสมบูรณ์แบบของเว็บจึงยังไม่มี แต่จะค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระหว่างที่ดำเนินการไป
It Digest : สิ่งของที่ได้รับบริจาคตอนนี้
ปรเมศร์ :หลายอย่างจะผ่านมาที่เว็บ thaiflood และหลายอย่างไม่ได้ผ่านเรา แต่เว็บ thaiflood แค่ประกาศว่า ติดต่อคนนี้ แล้วเขาอาจจะไปคุยกันเองก็ได้ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ ที่ต้องการให้ของส่งตรงถึงผู้ประสบภัยน้ำท่วม มากกว่ามากองไว้รวมกัน
It Digest : อยากจะทำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง
ปรเมศร์ : คิดว่ายังมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก คิดว่าถ้าจบจากการบิรจาคสิ่งของช่วยน้ำท่วมแล้ว ยังมีเรื่องของการทำความสะอาด เพราะว่าคงจะมีโรคภัยไข้เจ็บตามมา เพราะฉะนั้น งานก็ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะงานฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม จะต้องนำตรงนี้ ถอดเป็นบทเรียนต่อไปเพราะวิกฤตแบบนี้ สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อีก และอาจแรงกว่านี้ จึงต้องเตรียมพร้อม หากเกิดขึ้นแรงกกว่านี้ ทั้งนี้ คำว่าภัยพิบัติ เกิดจากการที่มีเหตุ แล้วไม่เตรียมตัวที่ดี ถ้าเตรียมตัวให้ดีอาจจะไม่เป็นแบบนี้ก็ได้
It Digest : เชิญชวนร่วมบริจาค
...
ปรีดา : โดยรายละเอียดแล้ว เรือจะทำรายละเอียดว่า รู้ว่าใครให้ ตรวจสอบได้เบื้องต้น และคิดว่าเครดิต บนอินเทอร์เน็ตที่เว็บ thaiflood มี น่าจะให้ความน่าเชื่อถือได้ เพราะทุกคนคิดว่าเงินที่บริจาคจะมาลงที่ว่าเกิดประโยชน์กับคนที่เดือดร้อนจริงๆ เว็บ thaiflood ก็เป็นอีกหนึ่งทางออก ที่จะทำอย่างโปร่งใสที่สุด
It Digest : ฝากถึงผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์บ้าง
ปรเมศร์ : ส่วนตัวคิดว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาของทุกคน ไม่ใช่ปัญหาของผู้ที่ประสบภัย อยากจะให้ทุกคนที่ยังช่วยตัวเองได้ เข้ามามีส่วนร่วมไม่ว่าจะบริจาคสิ่งของ บริจาคเงิน หรือมีส่วนร่วมเรื่องข้อมูลเท่าที่พอจะช่วยได้ซึ่งเรื่องนี้จำเป็น และเว็บ thaiflood ก็ขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมกับเว็บ ที่ได้มีส่วนช่วยคนที่เดือดร้อนอยู่
ทีมข่าวไอทีออนไลน์
itdigest@thairath.co.th