"เอไอเอส-ดีแทค-ทรู" เข้าพบ "กรณ์" หารือถึงแนวทางการพัฒนาโทรคมนาคมไทย เห็นด้วย 4 แนวทางรัฐบาลสร้างความชัดเจน หลังศาลให้ความคุ้มครองประมูล 3 จี ...

วันที่ 14 ต.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้เรียกผู้ประกอบการโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ 3 รายของไทยคือ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์เซอร์วิส หรือ เอไอเอส บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอม มูนิเคชั่น หรือ ดีแทค เพื่อหารือถึงแนวทางในการพัฒนาโทรคมนาคมของไทย ภายในเงื่อนไขของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่

นายกรณ์ กล่าวว่า การหารือในครั้งนี้ เอกชนรายใหญ่ทั้ง 3 รายเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลในการสร้างความชัดเจน ในกรณีที่ศาลปกครองให้ความคุ้มครองในการประมูล 3 จี ซึ่งปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำตัดสินใด ทำให้ระหว่างนี้ รัฐบาลต้องหาความชัดเจนเพื่อทุกค่ายสามารถแข่งขันและเดินทางในทางธุรกิจได้

“เอกชนต่างก็เห็นด้วยนโยบายของรัฐบาลทั้ง 4 แนวทางคือ การแปรสัญญาสัมปทานมาเป็นใบอนุญาต 3จี การพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 13 และมาตร 22 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุน การจัดตั้ง กสทช. และการทำตลาด MVNO ร่วมกับทีโอที ซึ่งทั้งหมดนี้ ต่างก็มีความคืบหน้าที่แตกต่างกัน ซึ่งในส่วนของ พ.ร.บ.ร่วมทุนตามมาตร 13 และ 22 นั้น ได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือสคร.รับไปดำเนินการแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีจะเสร็จทั้งหมด”

นายกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสัมปทานระหว่างเอไอเอส และ บริษัท ทีโอที พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนอีก 2 บริษัท คือ บริษัท ทรูมูฟ และดีแทคที่มีสัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท.โทรคมนาคม ยังไม่แล้วเสร็จ แต่เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานก่อนจะเสนอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก่อนเข้า ครม. เรื่องนี้เมื่อมีความชัดเจนก็จะทำให้บริษัทเอกชนรู้ได้ว่า จะสามารถใช้คลื่นความถี่นอกเหนือจากปัจจุบันที่ตัวใช้อยู่ได้หรือไม่ ซึ่งจะทำให้เอกชนพร้อมที่จะพิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมได้

...

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ และการประกอบกิจการวิทยุกระ จายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เอกชนก็ได้เห็นแล้วว่า รัฐบาลพยายามเร่งรัดในเรื่องนี้ ล่าสุดรัฐสภาได้มีการจัดตั้งกรรมาธิการร่วมเพื่อผลักดันร่างกฎหมายรองรับออกมาให้บังคับใช้และจัดตั้งกรรมการ กสทช. ได้โดยเร็ว เพียงแต่เอกชนต้องการให้ภาครัฐกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนในการจัดตั้งคณะกรรมการและการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บท

นายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า รมว.คลังได้เสนอ 4 แนวทาง ได้แก่ การแปรสัญญาสัมปทานมาเป็นใบอนุญาต 3G, ผลการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 22, การจัดตั้ง กสทช. และ การทำตลาด MVNO ร่วมกับทีโอที เนื่องจากทรูมูฟเป็นรายเดียวที่มีระยะเวลาสัมปทานเหลือน้อยที่สุด ดังนั้น การแปรสัญญาสัมปทานก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับทรูมูฟ ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันก่อนว่า จะมีอายุใบอนุญาต 15 ปี หรือจะให้มีอายุเท่าสัมปทานที่เหลือ ซึ่งหากเป็นอย่างหลังก็จะไม่เป็นประโยชน์.