ศาลปกครองแฟกซ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการประมูลใบอนุญาต 3จี ตามที่ "กสท" ยื่นฟ้อง ว่า กทช.ไม่มีอำนาจจัดการ ทำให้การประมูลที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ต้องระงับ ด้าน "นที" เตรียมยื่นอุทธรณ์ฉุกเฉินในวันที่ 17 ก.ย.นี้...
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. วันที่ 16 ก.ย. ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้อง สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ว่า ไม่มีอำนาจในการเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี ตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 เนื่องจากทำให้ กสท สูญเสียรายได้จากสัมปทานโครงข่ายโทรศัพท์ พร้อมขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและพิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งเป็นผลให้การเปิดประมูลใบอนุญาตโครงข่ายโทรศัพท์ระบบ 3จี ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ต้องถูกระงับไปอย่างไม่มีกำหนด
อย่างไร ก็ตาม สำหรับการเตรียมการเพื่อเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี ที่ผ่านมา กทช.ได้ใช้งบประมาณเตรียมการไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ไม่ทราบว่ากฎหมายในการสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่มีคำสั่งออกมามีรายละเอียด อย่างไร แต่ยืนยันว่านโยบายของรัฐบาลยังคงผลักดันให้คนไทยได้ใช้โครงข่าย 3จี ยืนยันว่า กทช.จะชี้แจงต่อศาลได้ในเรื่องที่เกิดขึ้น และมั่นใจว่า กทช.จะสามารถเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี ได้ภายในปีนี้
...
ด้าน พ.อ.นที ศุกกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ในฐานะประธานคณะทำงาน 3จี กล่าวเพียงแค่ว่า เบื้องต้นขอดูรายละเอียดจากคำสั่งศาลก่อนและเตรียมยื่นอุทธรณ์ฉุกเฉินในคดี ดังกล่าว ในวันที่ 17 ก.ย.นี้
"กทช.ยังจะต้องรอดูรายละเอียดคำสั่งดังกล่าวก่อน โดยในวันที่ 17 ก.ย. กทช.จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดให้คุ้มครองฉุกเฉิน และหลังจากนี้ กทช.จะต้องรอการพิจารณาจากศาลจนถึงวันที่ 20 ก.ย. เวลา 09.00 น. อย่างไรก็ตาม หากศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ซึ่งจะส่งผลให้การประมูล 3 จี ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ก.ย.นี้ จะต้องยุติกระบวนการดังกล่าวทันที" กรรมการ กทช.กล่าว
ขณะเดียวกัน มีคำถามจากผู้สื่อข่าวว่า การระงับครั้งนี้ จะทำให้ความน่าเชื่อถือของต่างชาติลดลงหรือไม่ ส่วนตัวพ.อ.นที ไม่ได้ให้ความเห็น และไม่รู้สึกถอดใจ เพราะปฏิบัติตามหน้าที่ ส่วนวันที่จะมีพิธีเปิดในวันที่20 ก.ย. ต้องดูตามสถานการณ์อีกครั้ง
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท กล่าวว่า การที่ กทช. จะยื่นอุทธรณ์ไม่ได้หมายความว่าการประมูลจะเกิดขึ้นได้ เพราะต้องรอดจนกว่าศาลจะมีคำสั่ง และการที่บริษัท ทีโอที เตรียมยื่นฟ้องในประเด็นเดียวกันก็ช่วยทำให้เรื่องนี้มีน้ำหนักมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากมีคำสั่งศาลปกครองออกมา บรรดาเอกชนทั้ง 3 รายที่เข้าร่วมประมูลด้วย ได้มีการเรียกประชุมด่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการดำเนินการต่อไป โดยปฏิเสธที่จะให้ความเห็นถึงคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าว
นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวเพียงว่า เพิ่งทราบข่าวว่าศาลปกครองรับคุ้มครองชั่วคราว จึงไม่สามารถจะเปิดเผยรายละเอียดได้มากนัก เพราะต้องการดูรายละเอียดคำสั่งศาล เบื้องต้นมองว่าจะเกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งหมด เพราะการประมูลถูกหยุดชะงักลงและบริษัทก็จะได้รับผลกระทบด้วย
ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ไม่น่ามีผลกระทบต่อประเทศ กทช.ต้องรีบอุทธรณ์ และขณะเดียวกันเอกชนจะต้องทำตามที่ กทช. ต้องรอลุ้นว่า กทช.จะสามารถยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่
ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รู้สึกผิดหวัง หวังว่าการอุทธรณ์จะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าการประมูลเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจะถือว่าเป็นการล้าหลังของประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องสำนักงาน กทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ กทช. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ กทช. ในหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (ไอเอ็มที) ย่านความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ หรือ ใบอนุญาต 3จี เนื่องจากประกาศดังกล่าวออกตามพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับ การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ปี พ.ศ.2543 ที่อาศัยรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 แต่เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.)ได้ประกาศยกเลิกใช้รัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 ทางกสท. จึงมีความเห็นว่า พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับดังกล่าวก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วย รวมทั้งประกาศดังกล่าวยังขัดกับมาตรา 47 วรรค 2 ในรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ. 2550 นอกจากนี้การออกประกาศดังกล่าวยังได้กระทบสิทธิการเปิดให้ 3จี โรมมิ่ง 2 จี ได้ แต่ 2 จี โรมมิ่ง 3จี ไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะจะทำให้รายได้ของ กสท.ที่ได้จากสัมปทาน 2จี ต้องลดลงถึงปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ กทช.ได้ใช้งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท ในการเตรียมการเพื่อเปิดประมูลใบอนุญาต 3จี.
...