ศาลปกครองกลางยังไม่มีคำสั่งว่าจะรับคำฟ้อง กสท หรือไม่ หลังนัดไต่สวนกรณี กสท ฟ้อง กทช. ไม่มีอำนาจออกใบอนุญาต 3จี นานกว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่มีข้อสรุปคำวินิจฉัย ขณะที่วันเดียวกัน ศาลปกครอง เห็นชอบ กทช.มีอำนาจประกาศใช้ ไอซี...
ในช่วงที่ทุกคนเริ่มนับถอยหลังสู่การเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ซึ่งจะเริ่มประมูลในวันที่ 20 ก.ย.นี้ ที่โรงแรมเอวาซอน หัวหิน นั้น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งชั่วคราวให้ยกเลิกหรือชะลอการประมูล 3จี เนื่องจากประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประมูลใบอนุญาต 3จี เป็นประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ กทช.ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และยังทำให้ กสท เสียหาย เพราะรายได้จากค่าสัมปทานที่เคยได้รับจะต้องลดลงด้วยนั้น ศาลปกครองได้นัดไต่สวนเป็นกรณีเร่งด่วนในวันที่ 15 ก.ย. เนื่องจาก กทช.แจ้งว่าในวันที่ 16 ก.ย. จะเรียกผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย มาทดลองวิธีการประมูล เพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนและวิธีการประมูลทั้งหมดนั้น
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. เวลา 13.00 น. นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และฝ่ายกฎหมาย พร้อมด้วย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการ 3.9จี นายพนา ทองมีอาคม กรรมการ กทช. นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการ กทช. นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กรรมการ กทช. เข้าให้คำชี้แจงต่อศาลปกครอง กรณีที่ กสท ยื่นฟ้อง กทช. ไม่มีอำนาจในการออกใบอนุญาต 3จี จากนั้น เวลา 14.30 นายประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธาน กทช. ได้ตามเข้ามาสมทบ โดยในส่วนของ กทช.นั้น พ.อ.นที และนายสุธรรม เป็นผู้ขึ้นชี้แจงต่อศาล
ภายหลังศาลปกครองใช้เวลารับฟังคำชี้แจงประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ศาลได้แจ้งต่อ กสท ในฐานะผู้ฟ้องและ กทช.ในฐานะผู้ถูกฟ้องว่า จะส่งคำสั่งศาลให้คู่คดีรับทราบ ว่าจะคุ้มครองชั่วคราวตามคำฟ้องของ กสท หรือไม่ ในเบื้องต้นจะส่งให้ทราบทางโทรสาร (แฟกซ์) และอาจเป็นนอกเวลาราชการ ทั้งนี้ บรรยากาศการไต่สวนคดีดังกล่าวเป็นไปอย่างคึกคัก ได้รับความสนใจจากทั้งสื่อมวลชน พนักงาน กสท และประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยในส่วนพนักงาน กสท ได้เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมมอบดอกไม้ให้นายจิรายุทธ ด้วย
นายจิรายุทธ กล่าวภายหลังให้คำชี้แจงต่อศาลว่า กสท ไม่มีเจตนาขัดขวางความก้าวหน้าของเทคโนโลยี 3จี ซึ่งการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเพิกถอนประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่านความถี่ 2.1 กิกกะเฮิร์ตซ หรือใบอนุญาต 3จี และขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการประมูลใบอนุญาต 3 จี ที่ กทช.กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจนว่า กทช.มีอำนาจในการออกใบอนุญาต 3จีหรือไม่
ส่วนประเด็นที่ กทช. เปิดให้ 3จีโรมมิ่ง 2จีได้ แต่ 2จีโรมมิ่ง 3จีไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นธรรม และการโอนถ่ายลูกค้าที่จะทำให้รายได้ของ กสท ที่ได้จากสัมปทาน 2จี ปีละประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ต้องลดลง และถ้า กทช.เดินหน้า 3จี โดยไม่มีอำนาจจริงๆ ก็จะเกิดผลเสียหายต่อประเทศ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไป กสท ต้องรอศาลพิจารณาก่อนว่า จะให้ความคุ้มครองหรือไม่ และยืนยันว่า กสท ไม่ได้ขัดขวางการประมูล 3จี เพราะก่อนหน้านี้ได้เปิดให้บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ใช้บริการแบบคอมเมอร์เชียลมาก่อน และในต่างจังหวัดก็เปิดให้บริการซีดีเอ็มเอแล้ว สิ่งที่เรามีข้อสงสัย คือ ข้อกฎหมายกระบวนการมีข้อถูกต้องหรือไม่
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 9.00 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษากรณีคดีที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.เป็นคดีดำ 1653/2550 กรณีที่ กทช.ออกประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้ และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม หรือ ไอซี พ.ศ. 2549 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต และขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดยศาลได้มีคำสั่งว่ายกฟ้องการฟ้องของทีโอที โดยให้ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้ และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม หรือ ไอซี พ.ศ.2549 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2549 จึงเป็นกฎที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องเพิกถอน พิพากษายกฟ้อง
นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางยังมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องในคดีที่ทีโอทีฟ้อง กทช.กับพวกรวม 3 ราย กรณีมีคำสั่งชี้ขาดให้ทีโอที เจรจาและทำสัญญาไอซีกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยทีโอทีฟ้องดีแทคเป็นผู้ถูกฟ้องร่วม เป็นคดีดำ 1523/2550 ซึ่งศาลฯ เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และกทช.สั่งให้ทีโอทีจ่ายค่าปรับวันละ 6 หมื่นบาท เนื่องจากทีโอทีไม่เข้าร่วมไอซีก็ชอบด้วยกฎหมาย.
...