เขื่อนพระราม 6 วิกฤติหนักในรอบ 18 ปี หลัง ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ลดลงอย่างน่าห่วงชี้ หากฝนยังไม่ตก อาจทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ จ.สระบุรี ได้รับผลกระทบบริเวณกว้าง...
หลังปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ล่าสุดผล
กระทบเริ่มเกิดกับชาวบ้านในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา โดยนายประสิทธิ์ ไต่พัน หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ (เขื่อนพระราม 6) กล่าวว่า สถานการณ์น้ำแล้งในปีนี้ หนักสุดในรอบ 18 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี 2535 แต่ครั้งนั้นก็ยังผ่านพ้นไปได้ เช่นเดียวกับครั้งนี้ ที่ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ (เขื่อนพระราม 6) กำลังเป็นห่วงว่าสถานการณ์ ขณะนี้ยังเข้าขั้นวิกฤติ
นายประสิทธิ์ฯ กล่าวยอมรับว่า เขื่อนพระราม 6 รับน้ำมาจาก 2 ทาง คือ ทางแรกรับมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยผ่านคลองชัยนาท - ป่าสัก ซึ่งระบายน้ำมาลงเขื่อนพระราม 6 อยู่ที่ 30 ลบ.เมตร / วินาที ส่วนอีกทางหนึ่งรับน้ำโดยตรงมาจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำที่ระบายลงมาอยู่ที่ 12 ลบ.เมตร / วินาที ซึ่งปริมาณน้ำรวมกันยังไม่ถึง 50 ลบ.เมตร / วินาที ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ และหากปริมาณน้ำในแม่น้ำป่าสัก ที่เขื่อนป่าสักปล่อยน้ำมายังเป็นอยู่เช่นนี้ จะทำให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรที่ใช้น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ อ.เมืองสระบุรี มาจนถึง เขต อ.เสาให้ ได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้ระบบนิเวศฯ ในแม่น้ำป่าสักเสียไป จนเกิดการเน่าเสีย และสุดท้ายจะทำให้ผู้เลี้ยงปลากระชังตลอดแม่น้ำปลาสักได้รับความเสียหาย ไปด้วย
สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ การแจ้งเตือนเกษตรกร ให้ลดการปลูกพืชที่ใช้น้ำ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างหนึ่งที่ขณะนี้ฝนเริ่มตก และเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการเพาะปลูกกันเกือบหมดแล้ว หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ (เขื่อนพระราม 6) กล่าวอีกว่า ล่าสุดนายนิรัตน์ มะคำไก่ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ (เขื่อนพระราม 6) สั่งให้มีการแจ้งเตือนเกษตรกรที่อยู่ท้ายเขื่อนพระราม 6 แล้ว เพราะขณะนี้เขื่อนพระราม 6 ปล่อยน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ 6.54 ลบ.ม./วินาที และคาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะยังคงทรงตัวต่อ
สำหรับ เขื่อนพระราม 6 เดิมชื่อ เขื่อนพระเธียรราชา สร้างปิดกั้นแม่น้ำ ป่าสัก ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีช่องระบายน้ำกว้าง12.50 เมตร 6 ช่อง เป็นเขื่อนระบายน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อทดน้ำส่งให้พื้นที่ในเขตโครงการชลประทานป่าสักใต้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และปทุมธานีรวมพื้นที่ 680,000 ไร่ สร้างเมื่อ พ.ศ.2458 เสร็จ พ.ศ.2467 และนับเป็นเขื่อนแห่งแรกในประเทศไทย
...