ปัญหาการบุกรุกทำลายป่ามีการวางมาตร-การแก้ปัญหามาทุกปี แต่ขบวนการบุกรุกทำลาย ป่าและนายทุน รวมถึงข้าราชการชั่วก็ยังคงดำเนิน อยู่อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย
นอกจากนี้ พื้นที่เกษตรกรรมและที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ยังถูกยึดครองโดยผิดกฎหมาย และใช้ผิดวัตถุประสงค์มากขึ้นทุกวัน กระทำกันเป็นขบวนการและมีข้าราชการสมคบกับนายทุนเช่นเดียวกัน ในพื้นที่หลายจังหวัด และในปี 2557 แนวโน้มจะมีมากขึ้น
ไล่มาตั้งแต่พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทำลายและยึดครองทาง ภาคเหนือ ที่ จ.ตาก อยู่ในภาวะวิกฤติ นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผวจ.ตาก สะท้อนให้เห็นว่าเดิมในพื้นที่มีป่าไม้อยู่ประมาณ 16,000 ตร.กม.หรือกว่า 10 ล้านไร่ คิดเป็น 82% ของพื้นที่จังหวัด แต่ข้อมูลล่าสุดลดลงไปเหลือ 70% จาก จังหวัดที่มีผืนป่ามากเป็นอันดับ 1 ตกลงมาเป็นอันดับ 2 รองจาก จ.เชียงใหม่
สาเหตุหลักไม่ได้เกิดจากกลุ่มมอดไม้ แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ปลูกพืชไร่ของเกษตรกร ชาวไทยภูเขา ใน อ.อุ้มผาง, แม่ระมาด, พบพระ และวังเจ้า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะป้องกันอย่างไรก็ไม่ได้ผล อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น
ภาคอีสาน ไปที่ จ.เลย เจ้าหน้าที่ยังต้องระมัดระวังการบุกรุกป่าไม้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน เขตป่า สงวนป่าภูเปลือย-ภูขี้เถ้า บ้านก้างปลา ต.ศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย ซึ่ง จนท.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ลย.4 บูรณาการตำรวจ ปทส., ป่าไม้ และ จนท.ผู้เกี่ยวข้อง เคยเข้าไปตรวจพบกลุ่มนายทุนแผ้วถางพื้นที่ซึ่งอ้างว่าซื้อมาจากชาวบ้านเพื่อปลูกสวนยางถึง 165 ไร่
พื้นที่ภาคกลาง อย่าง จ.กาญจนบุรี พบปัญหาการบุกรุกครอบครองพื้นที่ป่าไม้ผืนป่าตะวันตกมากขึ้น สาเหตุเกิดจากการขยายตัวของเมืองเพื่อเก็งกำไรไว้ รองรับโครงการทวายโปรเจกต์ รวมทั้ง นายทุนต้องการพื้นที่ปลูกยางพารา ปีงบประมาณ 2556 มีคดีจับกุมทั้งสิ้น 249 คดี ได้ผู้ต้องหา 148 คน พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก 7,731 ไร่
นายเชิดชัย จริยะปัญญา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ได้ออกตรวจปราบปรามการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2557 จึงมีเป้าหมายที่จะรื้อถอนทำลาย สิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสิน ที่ผู้กระทำผิดที่ได้นำเข้าไปปลูกในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 228 คดี แล้วปลูกฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนดังเดิม รวมเนื้อที่จำนวน 3,231 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา
ด้าน จ.ระยอง ก็ประสบปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า เช่น พื้นที่สาธารณะเขาหน้ายักษ์ ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย ในโครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กลุ่มนายทุนไม่ยำเกรงเข้าไปบุกรุก แผ้วถางปลูกยางพารา
ที่น่าห่วงคือพื้นที่ ป่าหนองสนม ชุมชนศาลเจ้า หมู่ 2 ต.เนินพระ ป่าสงวนผืนสุดท้ายกลางเมืองระยอง ถูกบุกรุกไปกว่า 10 ไร่ เขาหิน ในพื้นที่หมู่ 10 ต.วังหว้า อ.แกลง นายทุนก็เข้าไปตัดทำลายไม้หลายร้อยต้น ทั้งหมดที่กล่าวมาคดียังไม่คืบหน้า จึงเกรงกันว่าจะมีการบุกรุกอีกต่อไป
ลงไปพื้นที่ ภาคใต้ จ.พังงา พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งนายทุนเคยได้รับสัมปทานเข้าไปปลูกปาล์ม คาบเกี่ยวพื้นที่ ต.รมณีย์ ต.เหล และ ต.ท่านา อ.กะปง แต่หมกเม็ดขยายพื้นที่โครงการจาก 12,000 ไร่ เพิ่มเป็น 20,000 ไร่ แล้วนำไปจำนองไว้กับธนาคาร
อีกทั้งยังตัดผลาญต้นไม้จำนวนมาก หลังชาวบ้านและผู้เกี่ยวข้องร้องเรียนให้ กรมสืบสวนคดีพิเศษ สืบสวนสอบสวนนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล สั่งดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นเป็น นักการเมืองระดับชาติ ส่วน กรมที่ดิน ก็สั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินทั้งหมดกลับสู่สาธารณะ
แต่ขณะนี้การบุกรุกกำลังกลับมาย้อนอีกครั้ง จาก อิทธิพลของกลุ่มนายทุน นักการเมือง และผู้เกี่ยวข้อง จึงยังไม่มีใครกล้าเข้าไปขุดคุ้ยแต่อย่างใด
...
แม้กระทั่ง จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.มาบอำมฤต สนธิกำลัง หน่วยป้องกันป่าที่ ชพ.17 ขึ้นไปตรวจสอบบนยอดเขาสูง ในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าเสียบญวน–ท่าสาร ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำลำธารสำคัญ พื้นที่รอยต่อ จ.ระนอง พบว่านายทุนตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ แล้วแผ้วถางพื้นที่ปลูกยางพาราเหี้ยนไปกว่า 15 ไร่ จนถึงขณะนี้การสอบสวนก็ยังสาวไม่ถึงนายทุนผู้บงการ
หันมามอง ปัญหาที่ดิน ส.ป.ก.4–01 กำลังเป็นปัญหาใหญ่หลายจังหวัดใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์จำนวนมาก มีการนำไปขายต่อ และมีการสร้างอาคารถาวรเชิงพาณิชย์
ที่เป็นข่าวใหญ่คือ “พะเยาโมเดล” พื้นที่ ส.ป.ก.4-01 รอบ มหาวิทยาลัยพะเยา มีการฮุบที่ดิน แอบสวมสิทธิ์ และซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นมูลค่าไร่ละหลายสิบล้านบาท แล้วนำมาสร้างอาคารพาณิชย์และหอพัก
จากนั้นผู้ร่วมขบวนการซึ่งมีทั้งข้าราชการการผู้ใหญ่ นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น ตลอดจนนายทุน พยายามซิกแซ็กหาช่องให้ใช้ที่ดินในเชิงพาณิชย์ แต่ยังไม่มีกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ทำได้ จึงคาราคาซังทำผิดกฎหมายกันอยู่ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเพิกเฉยที่จะรื้อถอน
ในขณะที่มีอีกหลายจังหวัดรอดู “พะเยาโมเดล” เป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหาการใช้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ผิดวัตถุประสงค์
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ได้สั่งการให้เลขาธิการ ส.ป.ก. ตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดว่า ที่ดิน ส.ป.ก.4–01 ที่จัดสรรให้ เกษตรกร ตั้งแต่ปี 2518 กว่า 30 ล้านไร่ ประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน มีที่ดินที่ถูกนำไปใช้ผิดประเภทจำนวนเท่าไร และมีการเปลี่ยนมือผู้ถือครองถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง ส.ป.ก.ต้องเข้าไปจัดการ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้น แล้วปล่อยเลยตามเลย มาอนุโลมกันในภายหลัง
“ที่ดิน ส.ป.ก.ซื้อขายไม่ได้ และเปลี่ยนสิทธิ์ผู้ครอบครองได้ระหว่างผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น” นายยุคลย้ำ
นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ยอมรับว่ามีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 จำนวนไม่น้อย ที่ถูกเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ตามความเจริญที่เข้าไปถึง
มีปัญหาลักษณะเดียวกับที่ดิน ส.ป.ก.4-01 รอบมหาวิทยาลัยพะเยา ทั้งสิ้น 4 จุด ได้แก่ 1.ด่านเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ใกล้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น 2.บริเวณรอบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อ.เมือง จ.เชียงราย 3.ด่านสิงขร อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ 4.ด่านสะเดา อ.สะเดา จ.สงขลา
“การจะแก้ปัญหาโดยลำพังเพียงหน่วยงานเดียว อาจไม่ได้ผลสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้ประสานไปยังอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ให้มาทำบันทึกตกลงความเข้าใจ เรื่องการติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ส.ป.ก.4-01 ตามขอบเขตของการวางผังเมืองร่วมกัน” นายวีระชัยกล่าว
อย่างไรก็ดี ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า และใช้ที่ดิน ส.ป.ก.4–01 ผิดวัตถุประสงค์ ล้วนแล้วแต่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง และรู้เห็นเป็นใจ แต่ผู้รับผิดชอบระดับสูงในแต่ละหน่วยงานกลับไม่มีมาตรการจัดการอย่างเฉียบขาด จึงยังมีอยู่ไม่รู้จบ.
ทีมข่าวภูมิภาค