เครือข่ายภาคประชาชนและเครือข่ายภาคสังคม เดินหน้าฟ้องหยุดเขื่อนแม่วงก์ อีก 5 คดี จ่อฟ้องโมฆะสัญญากู้เงิน ก.คลัง กับสถาบันการเงิน 4 แห่ง ถอนประชาพิจารณ์ กบอ.36 จังหวัด ชี้ขัดต่อคำสั่งศาล...
เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยภายหลังการเสวนา "ผ่าแผน กบอ. เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ" ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในวันนี้ (25 ก.ย. 56) ว่า ข้อสรุปที่ได้จากการงานเสวนาในวันนี้ พบว่าการดำเนินงานตามโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ไม่เป็นไปตามแนวทางของกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งทั้งหมดที่รัฐบาลกล่าวอ้างว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยจากการเฝ้าจับตาดูของภาคประชาชนและภาคสังคม พบว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการของรัฐบาล และ กบอ. หลายประเด็นไม่เป็นไปตามคำสั่งศาล และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักกฎหมายหลายฉบับ
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีหลายโครงการที่เป็นโครงการสอดไส้ โดยที่ไม่ได้ระบุไว้ตามแผนแม่บทบริหารจัดการน้ำ หรือแม้แต่แผนงานที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ในเบื้องต้น สมาคมเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องขอพึ่งอำนาจศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนและระงับการดำเนินการในหลายๆ กิจกรรม ที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน รวม 5 คดี ซึ่งประกอบด้วย 1.ฟ้องร้องดำเนินคดีอธิการบดี และมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่รับเป็น stemper ในการไปรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งขัดต่อหลักการและกฎกระทรวง 2.เพิกถอนแม่น้ำสายใหม่ ขาณุวรลักษบุรี กำแพงเพชร-ท่าม่วง กาญจนบุรี เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย 3.เพิกถอนโครงการสอดไส้หลายร้อยโครงการ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทฯ ซึ่งโครงการเหล่านี้เพราะยังไม่มีการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และ รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
...
ข้อ 4.ฟ้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้สัญญาการกู้เงินของกระทรวงการคลัง ที่ลงนามไว้กับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 4 แห่งเป็นโมฆะ ซึ่งที่ผ่านมา อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาระบุแล้วว่า การเซ็นสัญญาดังกล่าวไม่เป็นไปตามนิติกรรมสัญญาที่มิได้มีการ ขัดต่อตามเจตนารมณ์ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ส่วนข้อ 5.ฟ้องร้องให้เพิกถอนกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 36 จังหวัด ซึ่งไม่เป็นไปตามคำสั่งของศาลที่ระบุให้ต้องนำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำไปประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึง ซึ่งหมายความว่า ต้องครอบคลุมทั้ง 65 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมเมื่อปี 54 แต่การจัดประชาพิจารณ์ตามแผนงานของ กบอ. ดำเนินการเพียง 36 จังหวัดเท่านั้น นอกจากนี้ การเปิดรับฟังความเห็นโดยให้มีประชาชนเข้าร่วมเพียง 800-1,500 รายต่อจังหวัด ไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดที่มีนับล้านคน ซึ่งสมาคมจะเร่งรวบรวมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลโดยเร็วที่สุด ก่อนครบกำหนดเดินสายจัดประชาพิจารณ์ในวันที่ 7 ต.ค.นี้.