เลขานุการ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นำเจ้าหน้าที่จาก สทอภ.บุกเข้าพื้นที่เสี่ยงภูเขาถล่ม นำเครื่อง มัลติโรเตอร์ บินถ่ายภาพดูลักษณะการไหลของดิน เป็นฐานข้อมูลแก้ปัญหาเรื่องดินสไลด์ของจังหวัดพังงาในระยะยาว...
กรณีมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ทำให้เกิดเหตุน้ำป่าไหล น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดพังงา ประกอบด้วย อ.เมือง อ.ตะกั่วป่า อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วทุ่ง และ อ.กะปง โดยเฉพาะ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมืองได้เกิดดินสไลด์จากภูเขาพาเอาดิน หิน ต้นไม้ถล่มลงทับบ้านของนายปัญญาคงน้อย อายุ 46 ปีอาศัยอยู่บ้านไม่มีเลขที่หมู่ที่ 6 บ้านดอนจันทร์ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งปลูกอยู่บริเวณเชิงเขา และนายปัญญา กำลังนอนหลับอยู่ในบ้านขณะนั้นต้องเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล โดยเหตุเกิดเมื่อประมาณเวลา 03.30 น.ของวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 และจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินสไลด์จากภูเขา เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบพื้นที่ เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดการถล่มของดินเป็นวงกว้าง และได้หามาตรการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน
...
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่6 กรกฎาคม 2556 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ สส.บัญชีรายชื่อโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายกฤษ ศรีฟ้า เลขานุการ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA) หรือ สทอภ.ได้เดินทางเข้าเข้าพื้นที่หมู่ที่ 6 บ้านดอนจันทร์ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เข้าถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อศึกษาเส้นทางการไหลของดิน จากกรณีดินสไลด์ทับบ้านราษฎร จนเป็นสาเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1 คน เพื่อวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป
นายกฤษ ศรีฟ้า กล่าวว่า สทอภ.มีช่างผู้เชี่ยวชาญภาพถ่ายทางอากาศ ที่ได้ใช้เครื่อง มัลติโรเตอร์ บินถ่ายภาพดูลักษณะการไหลของดิน เพื่อว่าในอนาคตจะใช้กรณีศึกษาเรื่องดินสไลด์ของจังหวัดพังงา ในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ซึ่งถ้าหากยังมีการปลูกพืชเศรษฐกิจบนภูเขา การแก้ปัญหาดินโคลนถล่มก็คงจะยากขึ้น และในอนาคตการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศก็จะรุนแรงขึ้น แต่สิ่งที่ช่วยได้ก็คือเรื่องของระบบการเตือนภัย ที่จะทำให้ทราบข้อมูลล่วงหน้า เช่น ปริมาณน้ำฝน ก็จะช่วยให้ราษฎรที่อยู่บริเวณเชิงเขาสามารถอพยพได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเกิด ความเสียหายขึ้น
ด้าน นายธวัชชัย เทพสุวรรณ ผู้อำนวยการธรณีวิทยาเขต 4 (สุราษฎร์ธานี) ซึ่งเคยเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่จุดเกิดเหตุ เปิดเผยว่า จุดที่ภูเขาถล่มนั้น เป็นจุดที่หินแกรนิตสลับกับเนื้อดินเมื่อมีปริมาณฝนตกหนักก็จะทำให้มีการ ร่วนซุยและสไลด์ลงมาซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดมาจากชาวบ้านบุกรุกขึ้นไปทำสวน การเกษตรในพื้นที่ลาดชัน จึงอยากทำความเข้าใจกับประชาชน ในช่วงฝนตกหนักให้หลีกเลี่ยงการอาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นพื้นที่เสี่ยงลาดเชิง เขาขณะเดียวกันอยากให้ทางท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจกับ ชาวบ้านในเรื่องของความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณเทือกเขาหลัก-ลำแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงและได้มีการบุกรุกสร้างสวนยางพาราและสวน ปาล์มน้ำมันกันเป็นจำนวนมาก และได้มีการขายเปลี่ยนมือจากผู้บุกรุกให้กับกลุ่มอิทธิพลต่างๆในพื้นที่ จังหวัดพังงา รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง ส่งผลทำให้พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดพังงามีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วปัจจุบัน และเสี่ยงต่อการถล่มของภูเขาเป็นวงกว้างติดตามมา.
...