คณะสำรวจตามหามานานกว่า 1 ปี ในที่สุดก็พบในวนอุทยานถ้ำเพชร – ถ้ำทอง หลังเดินสำรวจเส้นทางธรรมชาติ สุดภาคภูมิที่สิ่งมีชีวิตตัวน้อยนี้ยังคงอยู่คู่กับโขดเขาหินปูน รอวันที่จะมีผู้มาค้นพบคุณค่า ...
คณะสำรวจของวนอุทยานถ้ำเพชร – ถ้ำทอง นำโดยหัวหน้าวนอุทยานถ้ำเพชร – ถ้ำทอง นายยุทธนา ทองบุญเกื้อ นายคล้าย มะกร่ำเทศ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และนักเขียนสารคดีของสิ่งมีชีวิตของหนังสือ Advance Thailand Geographic นำโดยนายโดม ประทุมทอง พร้อมด้วยนางสุวรรณี พรหมประสิทธิ์ และนักเรียนโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ ได้เดินสำรวจเส้นทางธรรมชาติของวนอุทยานถ้ำเพชร – ถ้ำทอง อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ได้สำรวจพบกิ้งกือมังกรชมพู ที่คณะสำรวจตามหามานานกว่า 1 ปี เส้นทางแรกที่พบคือ บริเวณหุบกระแต พบโดยนางสุวรรณี พรหมประสิทธิ์ เป็นมังกรชมพูเพศเมีย ความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีลำตัวสีชมพูอ่อน ลำตัวมีหนามอ่อนเล็กๆ รอบตัว กำลังหากินซากใบไม้ที่ชื้นๆ
ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งนั้น จะเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ หัวหน้าวนอุทยานถ้ำเพชร – ถ้ำทอง นายยุทธนา ทองบุญเกื้อ พร้อมคณะ ได้เดินสำรวจเส้นทางถ้ำเจ้าพ่อเสือ ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างสูง ได้พบกิ้งกือมังกรชมพูจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้ทุกคนได้ประจักษ์ว่า นอกจากความสวยงามน่ารักของเจ้ากิ้งกือตัวน้อยแล้ว ยังแฝงไปด้วยความอิ่มเอมใจ ความภาคภูมิใจที่สิ่งมีชีวิตตัวน้อยนี้ยังคงอยู่คู่กับโขดเขาหินปูน รอวันที่จะมีผู้มาค้นพบคุณค่า พบประโยชน์ที่แม้คณะเราเองก็อาจคาดไม่ถึง วันข้างหน้าองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ด้านกิ้งกือจะประจักษ์ขึ้นด้วยนักวิทยาศาสตร์ไทย และควรจะมีนักวิทยาศาสตร์น้อยที่ก้าวไปจากแผ่นดินตาคลีนี้ร่วมสืบทอดด้วย อย่างแน่นอน
กิ้งกือมังกรชมพู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เดสโมไซเตส เพอร์พิวโรเซีย (Desmocytes purpurosea) มีลักษณะรูปร่างสวยงามแปลกตา มีสีชมพูสดใสทั้งตัว มีหนามแหลมคล้ายมังกรอยู่ในแต่ละวงปล้อง และสามารถปล่อยสารพิษไซยาไนด์ออกมาป้องกันภัยจากศัตรูได้ แต่พิษมันไม่สามารถทำร้ายคนเราได้หากเราไม่นำมันเข้าปากกินหลาย ๆ ตัว พบในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก พบครั้งแรกโดย ศ. ดร. สมศักดิ์ ปัญหา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยซึ่งในปี พ.ศ. 2550 กิ้งกือมังกรนี้ยังได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์สวยงามเป็นอันดับ 3 ของโลกอีกด้วย.
...