ดีเอสไอสรุปผลการสอบสวนการจัด ซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 และ ALFA 6 พบ 13 หน่วยงานรัฐ จัดซื้อของไม่ได้คุณภาพ ราคาแพงเกินจริงและส่อฮั้วประมูล ยกผลการทดสอบของ เนคเทค ยันเครื่อง GT 200 และ ALFA 6 ไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง
จากกรณี นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องตรวจวัตถุระเบิด GT 200 และ ALFA 6 ว่ามีความผิดพลาดในการตรวจหาวัตถุระเบิด ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนมีการให้ดีเอสไอเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง การจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดดังกล่าวของหน่วยงานความมั่นคง
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า สืบเนื่องดีเอสไอได้ดำเนินสืบสวนสอบสวนกรณีการร้องเรียนทุจริตจัดซื้อ เครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT 200 และ ALFA 6 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ผลการสืบสวนสอบสวนสามารถสรุปได้เป็น 2 กรณี ดังนี้ กรณีที่ 1 พบว่าหน่วยงานรัฐ 13 แห่ง มีการจัดซื้อในราคาที่สูงแพงเกินความจำเป็นจากการสอบสวนและรวบรวมเอกสารหลักฐานในการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยของส่วนราชการ ที่ทำการจัดซื้อทุกหน่วยงานพบมีข้อผิดสังเกตว่า การจัดซื้อ GT 200 และ ALFA 6 ของส่วนราชการ 13 แห่ง มีราคาที่จัดซื้อแตกต่างกันมากอาจจะก่อให้เกิดความเสียต่อทางราชการ เพราะมีการจัดซื้อ ตั้งแต่ราคาเครื่องละ 5 แสนบาทจนถึง 1.6 ล้านบาท เมื่อนำมาประกอบกับผลการทดสอบการใช้งานเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT 200 และ ALFA 6 ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ผลการทดสอบพบว่าเครื่อง GT 200 และ ALFA 6ไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริง เพราะเครื่องไม่มีการแผ่สนามไฟฟ้า (Electric field) จาก GT 200 และ ALFA 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ผลการทดสอบเครื่อง GT 200 และ ALFA 6 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ยังไม่พบประจุไฟฟ้าสถิตสะสมบนพื้นผิวของเครื่อง GT 200 และ ALFA 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ ,ไม่พบว่ามีการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic emission) จากเครื่อง GT 200 และ ALFA 6 ในทุกสภาวะการทดสอบ, ไม่พบการเคลื่อนที่ของเข็มชี้ทิศทางของเครื่อง GT 200 และ ALFA 6 ที่ทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีสนามแม่เหล็กรบกวน และไม่พบการเคลื่อนที่บอกทิศทางของ GT 200 และ ALFA 6 ดังนั้นเมื่อนำข้อมูลผลการตรวจสอบถึงประสิทธิภาพ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาพิจารณาประกอบด้วยแล้ว น่าเชื่อได้ว่าหน่วยงานที่จัดซื้อในราคาที่สูง เป็นการจัดซื้อในราคาที่แพงเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ การกระทำดังกล่าวจึงอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหายกับทางราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดีเอสไอจึงได้ส่งสำนวนการสืบสวนสอบสวนให้ ป.ป.ช.
นายธาริต กล่าวอีกว่า ผลการตรวจสอบกรณีที่ 2 พบพฤติการณ์ของกลุ่มบริษัทที่เสนอขายและขายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย มีพฤติการณ์ที่ไม่น่าจะสุจริตในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยพบว่า เครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย รุ่น ALFA 6 และ GT 200 ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัท คอมส์แทร็ค จำกัด เป็นบริษัทของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้แต่งตั้งบริษัทแจ็คสัน อิเล็คทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนและผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และสามารถแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายช่วงต่อในประเทศไทย ต่อมาบริษัทแจ็คสันฯ จึงได้ตั้งบริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท เปโตรกรุงเทพ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายช่วงต่อในประเทศไทย แต่เมื่อมีการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างเครื่อง ALFA 6 ของหน่วยงานราชการต่างๆ ปรากฏว่า บริษัทแจ็คสันฯ ได้เข้าเสนอยื่นซองเสนอราคาแข่งขันกับบริษัท ยูจีซีฯ และ และ บริษัท เปโตรกรุงเทพฯ ที่เป็นบริษัทลูก
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบผลการประมูลพบว่า บริษัทยูจีซีฯ และบริษัทเปโตรฯ ได้เสนอราคาต่ำกว่าบริษัทแจ็คสันฯ ที่เป็นตัวกลางในการนำสินค้าจากบริษัทคอมส์แทร็คฯ เข้ามาให้ 2 บริษัทดังกล่าวจำหน่ายในประเทศไทย พฤติการณ์ของกลุ่มบริษัทดังกล่าว ไม่น่าจะสุจริตในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เหตุผลก็เพราะการที่บริษัทแจ็คสันฯ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย แต่ในการเสนอราคากับหน่วยราชการดังกล่าว ทั้ง 2 ครั้ง กลับเสนอราคาสูงกว่า บริษัท ยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท เปโตรกรุงเทพฯ จำกัด ที่เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายช่วงต่อในประเทศไทย ไม่น่าจะเป็นไปได้ทางการดำเนินธุรกิจปกติ จึงเป็นกระทำการที่อาจจะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มูลค่าความเสียหายประมาณ 300 ล้านบาท หรือมากกว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความความผิดร่วมด้วย จึงอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ สรุปผลการสืบสวนส่งเรี่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
นายธาริต กล่าวอีกว่า ส่วนบริษัทคอมส์แทร็ค จำกัด ทราบว่าถูกทางการอังกฤษ ดำเนินคดีฐานฉ้อโกง โดยพนักงานอัยการของอังกฤษ ได้อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการขายอุปกรณ์ ตรวจจับสารต่างๆ ฐานฉ้อโกง ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคดีฉ้อโกงปี 2006 ด้วยการหลอกลวงขายอุปกรณ์เหล่านั้นให้กับทางการต่างประเทศ ในช่วงระหว่าง 15 ม.ค. 2007 ถึง 12 ก.ค. 2012 จากกรณีนี้ดีเอสไอได้มีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ เครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย รุ่น ALFA 6 และ GT 200 หากมีความเห็นว่าหน่วยงานได้รับความเสียหายจาการถูกหลอกลวงโดยการแสดง ข้อความอันเท็จเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย รุ่น ALFA 6 และ GT 200 ขอให้หน่วยงานราชการต่างๆ มาร้องทุกข์ต่อดีเอสไอเพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.
...