กทม. ยอมรับ รื้อ 'บิ๊กแบ็ก' กว่า 30 ม.แยกคปอ. ทำกระทบพหลโยธิน ดอนเมือง สายไหม จ่อหารือ ศปภ. แต่ยอมเปิดประตูระบายน้ำคลองขุนศรีบุรีรักษ์ คลองควาย และคลองซอย 1 เมตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวนนทบุรีแล้ว
วันที่ 23 พ.ย. ศาลาว่าการกทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม. เปิดเผยภายหลังจากประเมินผลกระทบสถานการณ์น้ำกว่า 30 ชั่วโมง ในพื้นที่โดยรอบหลัง จาก กทม.เปิดประตูระบายน้ำ 3 แห่ง ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองขุนศรีบุรีรักษ์ ประตูระบายน้ำคลองควาย และประตูระบายน้ำคลองซอย ที่ระดับ 75 ซม. เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนปรากฏว่ามีผลกระทบเกิดขึ้น แต่อยู่ในขอบเขตจำกัด ดังนั้นตั้งแต่บัดนี้ กทม.จะเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 3 แห่ง ที่ระดับ 1 เมตร ตามข้อตกลงที่ได้หารือร่วมกับ ศปภ. เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54
อย่างไรก็ตาม กทม.ขอสงวนสิทธิ์ในการปรับเพิ่มหรือลดระดับประตูระบายน้ำทั้ง 3 แห่ง ตามความเหมาะสม หากเกิดผลกระทบเพิ่มขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามอำนาจหน้าที่และตามคำสั่งของ ศปภ.ที่ให้ กทม.เปิดประตูระบายน้ำในระดับที่เหมาะสม และไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกันนี้ กทม.จะทำหนังสือเป็นทางการไปยัง ศปภ. และกรมชลประทาน เพื่อขอความร่วมมือในการเปิดประตูระบายน้ำ 2 แห่งซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน ได้แก่ ประตูระบายน้ำฉิมพลี เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองบางกอกน้อย และประตูระบายน้ำนครชัยศรี เพื่อผันน้ำคลองมหาสวัสดิ์ลงสู่คลองในพื้นที่ด้านตะวันตกต่อไป ซึ่งประตูระบายน้ำทั้ง 2 แห่งนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในจังหวัดนนทบุรีได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
...
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการชุมนุมและรื้อกระสอบทรายยักษ์ หรือ บิ๊กแบ็ก เป็นแนวยาวกว่า 30 เมตรบริเวณแยก คปอ. ดอนเมือง นั้น กทม.จำเป็นต้องหารือกับ ศปภ.เนื่องจากเป็นเจ้าของโครงการ โดยการรื้อบิ๊กแบ็กบริเวณดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่บริเวณถนนพหลโยธิน เขตดอนเมือง เขตสายไหม คลองสอง คลองบางบัว และพื้นที่ต่อเนื่องด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ชาวบ้านกว่า 200 คนได้เข้ารื้อแนวกระสอบบิ๊กแบ็กบริเวณแยกกรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.) ขณะที่มีตำรวจตรึงกำลังโดยรอบบริเวณ แต่ไม่มีตัวแทนของ กทม.มาเจรจากับแกนนำชาวบ้านมาเจรจาแต่อย่างใด จนชาวบ้านไม่พอใจรื้อบิ๊กแบ็กออกจนเกือบหมดแนว
ทางด้าน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวถึงการรื้อแนวกั้นน้ำทั้งหมดที่แยก คปอ. ตรงข้ามโรงเรียนนายเรืออากาศดอนเมือง ว่า ได้ประสานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และทราบว่าเบื้องต้นปริมาณน้ำที่ไหลไปตามถนนพหลโยธินยังไม่ส่งผลต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ส่วนความขัดแย้งระหว่างชาวนนทบุรีและกรุงเทพมหานคร ล่าสุดได้ประสานผู้ว่าฯ กทม. และได้รับการยืนยันว่ายอมให้เปิดประตูน้ำ ระดับความสูง 1 เมตรทั้ง 3 ประตู
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเรียกร้องของชาวนนทบุรีที่มีการร้องศาลปกครองในประเด็นให้ยุติ ประเด็นหนึ่ง คือ การให้เปิดประตูระบายน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตาม อีกประเด็น คือ การให้ยุติกู้ถนนกาญจนาภิเษก และถนน 340 ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ขอยืนยันว่าการกู้ถนนยังมีความจำเป็น แต่จะพิจารณาปรับแนวทางไม่ให้ขวางทางน้ำ และให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด
ส่วนการชุมนุมที่จังหวัดปทุมธานีเพื่อกดดันให้เร่งระบายน้ำเช่นกัน ว่า นอกจากนนทบุรีและปทุมธานีแล้ว อาจมีประชาชนที่อื่น ๆ ชุมนุมกดดันอีก ซึ่งต้องใช้การแก้ปัญหาเป็นจุด ๆ เพราะประเด็นสำคัญขณะนี้ คือ ประชาชนทั้งเหนือและใต้แนวคันกั้นน้ำต่างได้รับความเดือดร้อนเหมือนกันหมด
“เหนือคันกั้นน้ำก็เดือดร้อน น้ำก็เน่า ยุงก็ชุม แต่หากเปิดให้ระบายลงมา ตอนล่างที่ท่วมอยู่แล้วก็จะเดือดร้อนไปอีก ก็ต้องหาแนวทางจะทำอย่างไรให้ช่วยแบ่งเบา และอยู่กันได้ ไม่เดือดร้อนเพิ่ม” พล.ต.อ.ประชา กล่าว
ผู้อำนวยการ ศปภ. ยังกล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาขณะนี้ ว่า นอกจากการทำความเข้าใจกับประชาชนแล้ว สำคัญที่สุด คือ ต้องเร่งระบายน้ำ ทั้งฝั่งเจ้าพระยาและท่าจีนให้ได้มากที่สุด ก่อนที่น้ำทะเลจะกลับมาหนุนอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ย.นี้.