หากให้กล่าวถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทยมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นที่ยอมรับในความสามารถว่าหาตัวจับได้ยากยิ่ง ทั้งยังเป็นที่รู้จักกันดีไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า จะต้องมีรายชื่อของบุคคลท่านนี้มาอยู่ในความคิดลำดับต้นๆ ของคนไทยอย่างแน่นอน และนั่นก็คือ "ดร.สมิทธ ธรรมสโรช" ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารทรัพยากรน้ำ กยน. 

นายสมิทธ ได้กล่าวกับทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" ว่า ไม่ได้เป็นห่วงกรณีที่ปริมาณฝนในประเทศไทย จะตกในปริมาณเพิ่มมากขึ้นในปีหน้าและปีต่อๆ ไป ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนในตอนนี้ ตามแนวโน้มภาวะโลกร้อนขึ้นสักเท่าไร แต่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้กลับเป็นภาวะน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น เพราะน้ำแข็งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลายตามภาวะโลกร้อน ฉะนั้น ปริมาณน้ำในพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ก็จะสูงตามไปด้วยน้ำ และจะรุกลึกเข้ามาในผืนดิน ทำให้การระบายน้ำตามธรรมชาติก็ยากมากขึ้นไปด้วย 

ดร.สมิทธ ยอมรับว่า ตอนนี้ประเทศไทยก็กำลังประสบอยู่ แต่ไทยก็ยังไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้เต็มที่ มีแต่การคำนวณปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่เพียงพอ ความจริงแล้วนักวิชาการด้านน้ำจากต่างประเทศ ทั้งเนเธอร์แลนด์ หรือสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิเคราะห์ถึงเรื่องลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เวลามันพัดผ่านอ่าวไทย ทำให้เกิดคลื่นกระทบยังปากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทย ทำให้น้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การระบายน้ำตามธรรมชาติของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ท่าจีน และบางปะกง ตามจังหวะน้ำขึ้น น้ำลง ทำได้ยากขึ้น

...


ข้อมูลนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระบายน้ำของไทย ไม่เคยนำไปใช้เป็นข้อมูลใหม่ เพราะปัจจุบันภูมิอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลก็ไม่เคยหยิบนำไปใช้คำนวณ หากรัฐบาลหรือกรมชลประทานนำไปใช้ร่วมด้วย ก็จะมีความแม่นยำมากขึ้น จะคำนวณน้ำขึ้นน้ำลงจากดวงจันทร์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องทราบข้อมูลผลกระทบกรณีที่มีลมมรสุมพัดผ่านอ่าวไทยไปคำนวณร่วมด้วย ยิ่งปัจจุบันก็ปรากฏชัดว่า มีพายุหรือมรสุมพัดเข้ามาอ่าวไทยถี่มากขึ้น ซึ่งทำให้การระบายน้ำลงทะเลทำได้ยาก และช้ามากกว่าเดิม ซึ่งข้อมูลอย่างนี้เราต้องเอาไปใช้  จึงจะสามารถทราบว่าน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นเท่าใด เพราะนั่นเป็นสิ่งทำให้เกิดปัญหาระบายน้ำลงสู่ทะเลไม่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ทราบว่า เมื่อเสนอข้อมูลนี้ไปแล้ว รัฐบาลจะฟังหรือเปล่า

ดร.สมิทธ ย้ำว่า ต้องนำไปใช้ด้วย ไม่ใช่ฟังแต่น้ำขึ้นน้ำลงอย่างเดียว ซึ่งมันโบราณแล้ว สมัยใหม่สามารถคำนวณได้มากกว่านั้น อย่างเช่น ลมพัดผ่านอ่าวไทยทำให้เกิดคลื่นเข้าไปปะทะบริเวณปากแม่น้ำอย่างไร ทำให้เกิดเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำลงสู่ทะเลตามธรรมชาติก็ช้าลง อันนี้ต้องเอาข้อมูลไปใช้ อันนี้มันมีผลกระทบจริงๆ อีกอันที่ต้องยอมรับ คือมีคนกล่าวหาว่าผมชอบไปวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล มันไม่ใช่รัฐบาลนี้รัฐบาลเดียว แต่เพราะรัฐบาลก่อนๆ มา การปล่อยน้ำมาเป็นจังหวะๆ มันยังน้อย แต่รัฐบาลนี้ตอนเปลี่ยนรัฐบาลมีการปล่อยน้ำลงมาเยอะพร้อมๆ กัน 3 เขื่อนใหญ่ ทำให้ปริมาณน้ำมันก็มาก ที่ราบลุ่มภาคกลางก็ไม่สามารถรับน้ำได้มากเพียงพอ 


"แล้วต่อไปยอมรับว่า แนวโน้มปริมาณฝนจะตกมากขึ้น แต่ปี 2553 ความจริงเราเก็บน้ำในเขื่อนปริมาณน้อยไป พอหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ทำการเกษตร หรือปล่อยน้ำไปไล่น้ำทะเลปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา คือน้ำในเขื่อน จะต้องเก็บพอดี มากไปก็ไม่ได้ น้อยไปก็ไม่ดี ต้องเก็บไว้พอดีๆ ปลายฤดูฝนเก็บน้ำไว้มากไม่เป็นไร แต่ถ้าเก็บไว้มากตั้งแต่ต้นฤดูฝน พอฝนตกลงมา กลางฤดูจนถึงปลายฤดูเราก็ไม่มีที่เก็บน้ำในเขื่อนแล้ว มันจึงเกิดปัญหา ดังนั้นขั้นตอนการเก็บน้ำที่ผ่านมามันเก็บไม่ถูกจังหวะ ประกอบกับคนที่สั่งเก็บกับสั่งปล่อยคนละงานกัน พอปล่อยมาแล้ว คนที่จะมาระบายก็คนละคนกันอีก ปล่อยน้ำมาแล้ว กทม.ก็ไม่ยอมให้น้ำเข้ามา น้ำเลยไม่รู้จะไปไหน เพราะระบบระบายน้ำ กทม.ดีที่สุดในประเทศ ถ้าปล่อยน้ำมาตั้งแต่ต้นฤดูฝน กทม.ก็สามารถระบายออกได้ไม่มีปัญหา น้ำก็จะไม่ขังอยู่เหนือ กทม.มาก แต่พอปล่อยน้ำออกมาปริมาณมากพร้อมๆ กัน  ก็เลยไม่ยอมเปิดประตูระบายน้ำ เพราะเกรงว่าจะรับไว้ไม่อยู่น้ำจึงท่วมขังมาก" ดร.สมิทธ กล่าว.

ประธานมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังยืนยันอีกว่า อนาคตปริมาณน้ำทั่วโลกจะมากขึ้น เกิดจากภาวะโลกร้อน เพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นอย่างแน่นอน ในเวลาประมาณอีกไม่เกิน 10-11 ปี จากนี้ไปถึงแม้ไม่มีฝนตกลงมาแต่น้ำก็จะท่วม อันนี้เราต้องหาทางแก้ไข จะแก้ยังไง แก้ปํญหาเหมือนกับประเทศเนเธอร์แลนด์ สร้างเขื่อนปิดกั้นปากแม่น้ำหรือไม่ หรือจะย้ายเมืองหลวงอย่างที่หลายฝ่ายออกมาพูดกัน ในตอนนี้ก็ต้องเลือกเอา แต่ความเห็นส่วนตัวย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปที่อื่น ถือเป็นเรื่องใหญ่ คนตั้ง 10 ล้านคนจะหาที่อยู่ที่ไหน แล้วหากจะย้ายเมืองหลวงจริง มันไม่ใช่ย้ายแค่ 1-2 ปี แต่ต้องเป็น 10 ปี อย่างพม่าย้ายเมืองหลวงตั้ง 40 ปี ก็ยังย้ายไม่เสร็จ ของไทยพูดได้แต่ทำยาก ทางแก้ต้องสร้างเขื่อนในอ่าวไทย อย่างที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ทำ หรืออย่างนักวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เสนอไว้ ผมก็เห็นด้วยในการสร้างเขื่อนบริเวณอ่าวไทย เพื่อป้องกันน้ำท่วมจากกรณีน้ำทะเลสูงขึ้น ป้องกันน้ำท่วม กทม.ความจริงส่วนตัวศึกษามานานแล้ว เวลาไปบรรยายหนุนให้ประเทศไทยสร้างเขื่อนในอ่าวไทยป้องกันน้ำท่วมทีไรก็ถูกต่อว่าทุกครั้ง

...


ดังนั้นส่วนตัวยอมรับว่าเห็นด้วยในการสร้างเขื่อนบริเวณปากแม่น้ำอ่าวไทย เพราะสร้างแล้วในฤดูแล้งตรงนั้นก็เป็นน้ำจืดสามารถเก็บน้ำไว้ใช้งานได้ ส่วนหน้าน้ำก็จะกลายเป็นแก้มลิง มีประตูปิด-เปิด ระบายน้ำออกสู่ทะเล จัดระบบให้ดี

ส่วนกรณีที่มีหลายคนสงสัยว่า ถ้าสร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำบริเวณอ่าวไทย ก็เหมือนเป็นการปิดกั้นน้ำไหลลงสู่ทะเล ซึ่งตอนนี้ก็เห็นอยู่แล้วว่าระบายน้ำออกไม่ทัน แล้วจะไม่แย่หรือ? ดร.สมิทธ ระบุว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่สร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำที่จะไหลลงสู่ทะเล แต่สร้างเขื่อนลงไปในทะเลแล้วให้น้ำจืดในแม่น้ำไหลลงมาให้สุดในพื้นที่ที่เตรียมไว้ก่อน แล้วจึงเปิดประตูระบายน้ำออกสู่ทะเลเวลาน้ำทะเลลง ถ้าน้ำทะเลขึ้นก็ปิด ไม่ให้น้ำทะเลหนุน ซึ่งจะสามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลได้ด้วยไม่ให้มากเกินไป เพราะอาจทำให้้สัตว์น้ำในทะเลตาย แล้วระบบการระบายน้ำของเราก็จะมีประสิทธิภาพมาก ทั้งนี้ไม่ใช่การสร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำทันทีอย่างที่เข้าใจกัน หากสร้างลักษณะนั้น น้ำในแม่น้ำก็จะเอ่อออกมาท่วมข้างๆ ได้

...


ดร.สมิทธ กล่าวยืนยันแนวคิด ต้องสร้างเขื่อนปิดตั้งแต่ บริเวณ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไปจนถึงบริเวณ ปากแม่น้ำบางปะกง ใน จ.ฉะเชิงเทรา รวมระยะทางประมาณ 90 กม. จึงจะแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างได้ผล แต่ทั้งหมดต้องเป็นนโยบายระดับชาติเป็นผู้ดำเนินการจึงจะมีโอกาสสำเร็จ ความจริงผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเนเธอร์แลนด์ก็ได้เคยมาศึกษาไว้ให้แล้ว ขณะที่ประเทศเวียดนามเพื่อนบ้านเราก็สร้างเขื่อนยาว ถึง 33 กิโลเมตร ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปท่วมประเทศเสร็จแล้วเช่นกัน และยังส่งรูปมาให้ผมดูด้วย

ดร.สมิทธ กล่าวอีกว่า "ยืนยันไม่มีหนทางอื่นในการแก้ปัญหาอย่างได้ผลอีกแล้ว หากไม่สร้างเขื่อนก็ต้องย้ายเมืองหลวง ทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เพราะต้องยอมรับ กทม. เป็นหนึ่งในเมืองหลวงของโลกที่จะถูกน้ำท่วมในอนาคต หากไม่มีการแก้ไข แต่มันก็ไม่ใช่ไทยประเทศเดียว สิงคโปร์ก็โดน สิงคโปร์กำลังพิจารณาสร้างเขื่อนรอบๆ เกาะป้องกันน้ำท่วม กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย หรือจะเป็นเมืองไซง่อน ประเทศเวียดนาม ก็เช่นกัน ญี่ปุ่นก็คงโดนหลายเกาะ


หากรัฐบาลตัดสินใจดำเนินการจริงๆ ก็จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่ท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง หรือจากปริมาณน้ำเหนือในอนาคตได้ รวมทั้งยังได้ผลพลอยได้ คือได้ถนนบนสันเขื่อน 4 เลนขนาดใหญ่ และสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 7 เมตร ซึ่งสามารถเดินทางจากกรุงเทพลงไปภาคใต้ หรือจากภาคใต้ตรงไปภาคตะวันออกเลยทีเดียว แต่ต้องเข้าใจว่า ไม่เหมือนโครงการถนนในทะเลของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยเสนอจะสร้างจนเป็นที่เกรียวกราวมาแล้ว เพราะนั่นอาจใช้ประโยชน์ได้เพียงด้านเดียวคือเป็นถนน ไม่คุ้มค่า แต่นี่จะใช้เป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วมด้วย พร้อมกับได้แลนด์บริดจ์น้ำจืดด้านหนึ่ง อีกด้านเป็นน้ำทะเล สามารถเก็บน้ำจืดไว้ใช้ประโยชน์ได้ในยามหน้าแล้ง ส่วนหน้าน้ำก็ใช้เป็นแก้มลิงระบายน้ำลงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

...

"หากดำเนินการได้ตามนี้ เชื่อว่าประเทศไทยจะพ้นจากปัญหาน้ำท่วมขังทั้งจากน้ำทะเลหนุนสูง และปัญหาน้ำเหนือหลากลงมาระบายลงทะเลไม่ทัน ทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยใหญ่อย่างที่เป็นอยู่ได้ ทำให้เกิดแนวคิดเสนอให้มีการย้ายเมืองหลวงจาก กทม.ไปอยู่ที่อื่นไม่ว่า จะเป็นที่ จ.เพชรบุรี นครนายก หรือเพชรบูรณ์อาจหมดไป และจะป้องกันน้ำท่วมกทม.เมืองหลวงของประเทศไทยไปในอนาคตอย่างน้อยอีก 30-40 ปี ข้างหน้า เลยทีเดียว แต่คงไม่ใช่ชั่วกัลปาวสานอย่างที่เป็นข่าวกัน ก็อยู่ที่ว่ารัฐบาลชุดนี้และชุดต่อๆ ไป จะกล้าตัดสินใจหรือไม่?" ดร.สมิทธ กล่าว…