ปธ.กลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่)  ร้องรัฐมนตรีต่างประเทศไทย  ใช้เวที เออาร์เอฟ ยกกรณีคนไทยถูกเกาหลีเหนือลักพาตัว เข้าหารือ ...

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. นายโทมาฮารุ เอมีฮาระ ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยนายโทมาฮารุ กล่าวถึงเรื่องครอบครัวของ น.ส.อโนชา ปันจ้อย ชาว อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ผู้ถูกลักพาตัวโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือไปจากมาเก๊าเมื่อปี 2521 ได้แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังองค์การสหประชาชาติ คณะทำงานด้านผู้ถูกบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ : The Working group on Enforced or Involuntary Disappearances (WGEID สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ : Office of the United Nations Higher Commissioner for Human rights) โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2552 ครอบครัวปันจ้อย ได้ส่งเอกสารขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการไปยังองค์การสหประชาชาติ ณ สำนักงานสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพฯ) ตามระบบของคณะทำงานฯ ครอบครัวของผู้เสียหายและกลุ่ม NGO ที่ได้รับความยินยอมจากครอบครัวของผู้เสียหาย สามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้โดยตรงไปยังองค์การสหประชาชาติได้ โดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลของตน

นายโทมาฮารุ กล่าวอีกว่า ดังนั้น กลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) (ARNKA) จึงทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างครอบครัวผู้เสียหายกับคณะทำงานฯ ซึ่งได้รับความยินยอมแล้ว จากครอบครัวในขั้นตอนต่อไป เมื่อคณะทำงานฯ พิจารณาการแจ้งขอความช่วยเหลือนั้นจะบรรจุให้เป็นว่าระการประชุมของคณะทำงานฯ หลังเดือนกันยายน 2552 และจะเรียกข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพิ่มเติมจากรัฐบาลไทย ซึ่งรวมถึงเกาหลีด้วย ทราบมาโดยตลอดว่ารัฐบาลเกาหลีเหนือลักพาตัวชาวต่างชาติจำนวนมากจากอย่างน้อย 12 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงชาวไทย กรณีของ คุณอโนชา ปันจ้อย โดยมาจากคำยืนยันของ นาย Charles Robert Jenkins อดีตทหารหนีทัพของอเมริกา และอยู่ที่เกาหลีเหนือกว่า 40 ปี ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2548  ได้ยืนยันว่า "ตนเองเคยเป็นเพื่อนบ้านกับผู้หญิงชาวไทยชื่อ "อโนเชะ" ซึ่งถูกลักพาตัวมาจากมาเก๊า โดยเป็นเพื่อนบ้านกัน ระหว่างปี 1980-1989 ที่เกาหลีเหนือ" โดยได้แสดงรูปถ่ายที่ถ่ายด้วยกันที่เกาหลีเหนือ จากข้อมูลนี้ทำให้เมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2548 รัฐบาลไทยสามารถระบุได้ว่า "อโนเชะ" คือ น.ส. อโนชา ปันจ้อย ตั้งแต่ปี 2548 รัฐบาลไทยพยายามเจรจากับเกาหลีเหนือเรื่อยมา โดยรวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-เกาหลีเหนือ เพื่อติดตามข้อมูล น.ส. อโนชา ในการประชุมภาคี ระหว่าง ดร.กันตธี ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยนั้น กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีเหนือในการประชุม ARF (ASEAN regional Forum) ณกรุง Manila เมื่อปี 2494 (2006)

นายโทมาฮารุ กล่าวต่อว่า จนกระทั่งปัจจุบันผ่านมา 4 ปีแล้ว กลับไม่มีความคืบหน้า ในการแก้ไขปัญหานี้ ส่วนครอบครัวของ น.ส. อโนชา ปันจ้อย โดยเฉพาะ นายสุคำ ปันจ้อย พี่ชาย มีอายุมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอายุ 63 ปี สุขภาพไม่แข็งแรง ยังคงเฝ้ารอคอยว่าจะมีโอกาสได้พบน้องสาวอีก ครั้ง สิ่งเหล่านี้ ทำให้ครอบครัวปันจ้อย เกิดความรู้สึกว่าคงคาดหวังความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยเพียงแห่งเดียวไม่ได้อีกต่อไป จึงต้องขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติด้วย ในกรณีการลักพาตัวชาวต่างชาติโดยเกาหลีเหนือ ครอบครัวของผู้ที่ถูกลักพาตัวจากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เคยได้แจ้งเรื่องต่อองค์การสหประชาชาติมาแล้ว ดังนั้น การแจ้งเรื่องดังกล่าวจากครอบครัวของไทย จึงนับได้ว่าเป็นประเทศลำดับที่ 3 ในเรื่องนี้ ทางกลุ่มฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การที่เรื่องนี้ได้ขึ้นต่อองค์การสหประชาชาติ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการแก้ไขปัญหา และเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ทางครอบครัวยังมีความหวังรัฐบาลไทยอยู่

ประธานกลุ่มช่วยเหลือผู้ที่ถูกลักพาตัวโดยเกาหลีเหนือ (เชียงใหม่) กล่าวด้วยว่า โดยเฉพาะในการประชุม ARF(ASEAN Regional Forum) ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.  2552 ที่ จ.ภูเก็ต โดยเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จาก 5 ใน 6  ของการเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนเกาหลีเหนือจะไม่ส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมเพียง แต่ส่งข้าราชการระดับนักการทูตเป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม ครอบครัวของน.ส.อโนชา ปันจ้อย และกลุ่มฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ เจ้าภาพของการประชุม ARF ณ จ.ภูเก็ต จะไม่ลืมว่าประเทศไทย เป็นประเทศผู้เสียหายต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากรัฐบาลเกาหลีเหนือ ทั้งนี้ น.ส.อโนชา และ ครอบครัว ซึ่งเป็นเจ้าทุกข์รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย และสังคมโลกมาเป็นเวลานาน ในการประชุมที่จังหวัดภูเก็ต รัฐมนตรีของไทย ซึ่งมีบทบาทต่อการรักษาสิทธิมนุษยชนชาวไทย จะไม่เจรจาเกี่ยวกับ น.ส. อโนชา คงไม่ได้ หวังว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและรัฐบาลไทย จะดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว ซึ่งหากทางรัฐบาลไทยยังเพิกเฉย ทางกลุ่มผู้ประสานงานฯ จะให้ครอบครัวน.ส.อโนชาเข้าไปร้องเรียนต่อสหประชาชาติ



...