ความหวั่นวิตกของชาว กทม.พุ่งสูงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว หลังจากล่าสุดสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี ทานแรงน้ำไม่ไหว แนวต้านพังทลายถูกกระแสน้ำเข้าท่วมทั้งหมดเป็นแห่งล่าสุด ขณะที่รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 31 กรณีภัยพิบัติร้ายแรง เพื่อสู้กับภัยพิบัติครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังรำไรเมื่อมีผู้ที่ทำงานภาคประชาชน มีประสบการณ์ ความรู้ นำเสนอแนวความคิดป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ โดยใช้หลักการ "น้ำดันน้ำ" ของนายอภิชาติ สุทธิศีลธรรม เผยแพร่เป็นคลิปวิดีโอบนเว็บไซต์ยูทูบ ตามที่ไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอไปแล้ว ซึ่งก็มีเสียงตอบรับในโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม หวังกันว่ารัฐบาลจะทำตาม

ล่าสุด นายอภิชาติ ได้ร่วมกับนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกคลิปวิดีโออีกชุด นำเสนอแผนปฏิบัติการไปยังรัฐบาล โดยนายศศิน ระบุว่าทฤษฎีเบี่ยงน้ำของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ใช้อยู่ส่วนตัวคิดว่าเอาไม่อยู่แน่ วันนี้จำเป็นต้องตัดสินใจ เพราะหากคันกั้นน้ำในแนวรังสิต-นครนายกฯ เกิดน้ำล้นข้ามคัน หรือรับน้ำที่ลงมาไม่ไหว โอกาสที่น้ำจะท่วมพื้นที่ กทม.ชั้นใน ก็มีสูง และถ้าท่วมแล้วเราจะไม่มีศูนย์บัญชาการ จะไม่มีที่แห้ง จะไม่มีโรงพยาบาลสำหรับช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อน แต่หากยังป้องกันไว้ได้จะเป็นผลดีกับประเทศชาติ และสถานการณ์โดยรวมมากกว่า
...

นายศศิน ยกตัวอย่างว่า วันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปล่อยให้น้ำไหลเข้าโดยใช้หลักการ "น้ำดันน้ำ" ทำเขื่อน 2 ชั้น ปล่อยให้น้ำไหลเข้ามาอยู่ระหว่างแนวเขื่อนที่ 1 กับ 2 ใช้แรงดันน้ำดันกันเอง ซึ่งได้ผลเขื่อนไม่พัง สามารถรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ได้ ดังนั้นจึงคิดว่าทฤษฎีนี้ใช้กับกรุงเทพฯได้ โดยนำเสนอแผนปฏิบัติการ ดังนี้
ทำ 'ถนนศรีสมาน-สายไหม' ให้เป็นป้อมปราการ "น้ำดันน้ำ"

วันนี้เรามีแนวคันกั้นน้ำที่ยังไม่แตก หรือมีน้ำไหลล้นข้ามมา อยู่ที่บริเวณหลัก 6 ดังนั้น เสนอให้ทำแนวคันกั้นน้ำเสริมที่ถนนศรีสมานต่อยาวไปถึงถนนสายไหม เป็นคันกั้นหรือเขื่อนชั้นที่ 2 จากนั้นปล่อยน้ำเข้ามาในพื้นที่ รักษาระดับน้ำไว้ ให้แรงดันน้ำดันกันเอง ซึ่งเชื่อว่าวิศวกรที่มีอยู่มีความสามารถที่จะทำได้ ดอนเมืองมีความแข็งแรง ก็ให้ปล่อยน้ำเข้ามา แล้วย้ายศูนย์บัญชาการ ศปภ. ไปอยู่ที่ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ หรือที่อื่น

นอกจากนี้ ให้เตรียมแผนสำรอง โดยใช้แนวถนนแจ้งวัฒนะ 35 กิโลเมตร เป็นปราการด่านสุดท้ายในการรักษา กทม.ชั้นในไว้ให้ได้ ให้ถนนแจ้งวัฒนะ เป็นเขื่อนที่ 3 หากปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมาก ก็ปล่อยน้ำเข้ามา รักษาระดับน้ำไว้เช่นเดียวกัน เชื่อว่าจะสามารถป้องกัน กทม.ไว้ได้

...

"ปากเกร็ด หลักสี่ บางเขน ลาดพร้าว คันนายาว ต้องหาวิธีทำให้คนที่อยู่ด้านเหนือรู้ว่า เราจะดูแลเขา แล้วปล่อยน้ำเข้ามา และรักษาระดับน้ำไว้ ไม่เช่นนั้นเราจะท่วมกันทั้งหมด" นายศศิน กล่าว

วันนี้ต้องกล้าตัดสินใจ
ด้านนายอภิชาติ อธิบายเพิ่มเติมว่า จะให้แนวเขื่อนชั้นแรก คือ บริเวณหลักหก สู้กับน้ำระดับ 3.50 เมตร ไปนานๆ ไม่ได้แน่ เพราะไม่ใช่เขื่อนถาวร หรือคันคอนกรีตทั้งหมด บางส่วนที่เป็นจุดอ่อนจะถูกน้ำซัดกัดเซาะ จนพังทลายในที่สุด
...

ดังนั้น ต้องทยอยปล่อยน้ำเข้ามา ให้ประชาชนที่อยู่ระหว่างแนวเขื่อนที่ 1 กับเขื่อนที่ 2 มีเวลาในการอพยพ พื้นที่ใกล้แนวเขื่อนอาจจะถูกน้ำท่วมสูง 1.50-1.60 เมตร แต่แนวถัดออกมาจะท่วมแค่ 50-60 เซนติเมตร หากเขื่อนที่ 2 มีความสูง 1.50 เมตร จะมีความแข็งแรงพอรับน้ำได้ประมาณ 60% แต่เมื่อเราปล่อยน้ำเข้ามาจนได้ระดับ 1.50 เมตร ในที่สุดแรงดันน้ำจะน้อยลง จะมีน้ำรั่วซึมเข้ามาหลังแนวคันที่ 2 น้อยมาก ที่สำคัญคือ เขื่อนจะไม่พัง ปัญหาที่เกิดขึ้นไล่มาตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ จนถึงสวนอุตสาหกรรมบางกะดี เป็นอย่างเดียวกันคือ ต้องการให้พื้นที่ข้างในแห้ง ต่อให้ทำแนวไว้ถึง 3 ชั้น ก็พังทั้ง 3 ชั้น

...
สิ่งสำคัญคือ วิธีปล่อยน้ำเข้ามา หากมีประตูระบายน้ำก็เปิดให้น้ำเข้ามาเลย ถ้าไม่มีอย่าไปเจาะกำแพงเป็นช่อง เพราะจะพังทั้งหมด ให้ใช้วิธีกาลักน้ำ ซึ่งส่วนนี้ ทางเทคนิค ทำได้แน่นอน ให้รีบตัดสินใจก่อนที่คันจะพัง หากกลัวว่าปริมาณน้ำจะไหลบ่าลงมาเพิ่มขึ้น ก็ให้เสริมแนวเขื่อนทั้ง 2 ชั้นขึ้นไปอีก แล้วปล่อยระดับน้ำให้เข้ามาท่วมขังระหว่างแนวเพิ่มเป็น 1.80 เมตร ก็จะทำให้แนวแรกสามารถรับน้ำได้เพิ่ม ถ้าจะให้ดีหากน้ำมาเกิน 4 เมตร ควรจะทำเขื่อนเพิ่มเป็น 3 ชั้น ที่แนวถนนแจ้งวัฒนะ ปล่อยน้ำเข้ามาอีกประมาณ 1.20 เมตร เพื่อสร้างแรงดันน้ำเพิ่ม ก็จะสามารถรับมือน้ำได้
นายอภิชาติ กล่าวว่า ในทางรัฐศาสตร์ คนที่จะทำตามแผนปฏิบัติการนี้ได้ คือ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ต้องประกาศว่า จะปล่อยให้น้ำท่วมแนว ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ไม่ต้องจ่ายภาษีโรงเรือน 3 ปี ได้รับการชดเชยความเสียหายตามความเป็นจริง พวกที่อยู่ในพื้นที่ชั้นในที่ปลอดภัย จะต้องตอบแทน โดยจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เอางบประมาณที่ไปกู้มาลงไปช่วย เพราะงบประมาณเวลาเก็บกลับคืนคนที่ถูกน้ำท่วม, คนที่ไม่ถูกน้ำท่วม คนได้ประโยชน์, คนเสียประโยชน์ จะถูกเก็บเท่ากัน ซึ่งไม่ยุติธรรม

"ขอให้โมเดลนี้เตือนใจ คุณอย่าไปเอาชนะน้ำ ผมยอมแพ้น้ำ แต่ยอมแพ้ครึ่งเดียวเรายอมให้พื้นที่ถูกน้ำท่วม 20% ความเสียหายเหลือแค่ 2-5% เท่านั้น กับความเสียหายอีก 80% ถ้าถูกท่วมทั้งหมด เป็นล้านล้านบาท ไม่ใช่แค่แสนล้าน หมื่นล้าน ภาพลักษณ์ของประเทศที่ไร้ซึ่งระบบแก้ปัญหา ป้องกันปัญหาอีกกี่ล้านล้าน ไม่สามารถจะใช้เงินซื้อได้"

หลังจากแนวคิดหลักการ "น้ำดันน้ำ" ถูกเผยแพร่ออกไป ล่าสุด ได้มีการทำจดหมายเปิดผนึกออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ www.petitiononline.com ส่งรัฐบาล และกรุงเทพมหานคร สนับสนุน "โมเดลน้ำดันน้ำ" แก้วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ 2554 ตามลิงก์ http://www.petitiononline.com/Tum0406/petition.htmlระบุว่า
สืบเนื่องจากการที่ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และนายอภิชาติ สุทธิศีลธรรม ซึ่งทั้งสองท่านเป็นนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์นั้น ได้ร่วมกันจัดทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ 2554 โดยได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา ชี้ชวนให้เห็นถึงแนวทางในการปฏิบัติตัว เตรียมตัวของประชาชนต่อสถานการณ์ดังกล่าว อีกทั้งยังได้มีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯชั้นใน โดยการเสนอโมเดลการจัดการน้ำ "โมเดลน้ำดันน้ำ" ที่ใช้ปฏิบัติการมาแล้วและประสบความสำเร็จที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
ภายใต้โมเดลดังกล่าวนี้ ต้องการการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาดของผู้นำทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องการกระบวนการแก้ไขปัญหาที่เข้าใจถึงธรรมชาติของน้ำมากกว่าการเอาชนะ คะคาน และต้องการเสียงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนภาคประชาชนที่จะต้องร่วมกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ด้วยกัน
ดังนั้นจึงขอสนับสนุน "โมเดลน้ำดันน้ำ" ที่นายศศิน และนายอภิชาติ ได้นำเสนอไว้ http://www.youtube.com/watch?v=bmI5WnecYdA&sns=fb เพื่อให้รัฐบาล และกรุงเทพมหานครนำแนวทางโมเดลดังกล่าวไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและเชื่อมโยงบูรณาการนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ภาคประชาสังคม ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขฝ่าวิกฤติครั้งนี้ .