เขื่อนอุบลรัตน์เล็งระบายน้ำ 100% หากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องและปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก เตือนประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ด้าน "ยิ่งลักษณ์" ยอมรับสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤติ...

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) และนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้เดินทางไปประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จะส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยาและพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่กรมชลประทาน โดยมีนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในภาพรวมอยู่ในภาวะวิกฤติ ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้วเฉลี่ยร้อยละ 48 ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิง วัง ยม และน่านที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ 4,578 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ 3,622 ลูกบาศก์เมตร/วินาที อย่างไรก็ตาม ก่อนน้ำจะถึงเขื่อนเจ้าพระยา จะมีการผันน้ำเข้าคลองมะขามเฒ่าได้ 41 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเกินความจุจากเดิมรับได้เพียง 35 ลูกบาศก์/ต่อวินาที

...

นายชลิต กล่าวต่อว่า สำหรับการระบายน้ำออกทางด้านตะวันตกของ กทม.นั้น จำเป็นต้องลดระดับน้ำลง เพราะจะทำให้น้ำในแม่น้ำน้อยไหลตลบเข้าท่วมในพื้นที่ จ.อ่างทอง และ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ส่วนสถานการณ์แม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี ที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำพลเทพขณะนี้ น้ำเกินความจุจำเป็นต้องระบายน้ำที่ไหลเข้ามาออกทั้งหมด และจำเป็นต้องมีการสั่งปิดคลองสาขาทั้งหมด เพราะจะกระทบกับ จ.ลพบุรี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแม่น้ำท่าจีน มีการเสนอให้ดำเนินการเช่นเดียวกับคลองลัดโพธิ์ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีกลุ่มอนุรักษ์ท่าจีนออกมาคัดค้าน เพราะเกรงจะกระทบสวนส้มโอที่ไม่ได้คุณภาพ ส่วนการซ่อมแซมประตูระบายน้ำบางโฉมศรี มีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 40 ส่วนสถานการณ์ทิศตะวันออกจะผันไปยังคลองรังสิต ผ่านไปยัง จ.ฉะเชิงเทรา ออกแม่น้ำบางประกง ซึ่งในภาพรวมได้ผันน้ำออกแล้ว 45.5 ล้านลูกบาศก์เมตร และได้มีนำเครื่องสูบน้ำมาช่วยเร่งระบายน้ำเต็มพิกัดแล้ว ขณะเดียวกันจะมีการประสานไปยังหน่วยบัญชาการทหารพัฒนามาช่วยขุดลอกคลองทั้ง 8 สาย

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งโดยกำชับให้นายพระนายสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมรับมือพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาในอีกไม่กี่วัน โดยให้เพิ่มแนวคันกั้นน้ำและเคลื่อนย้ายประชาชนไปที่ปลอดภัยและให้สอบถามความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมขังนาน เพื่อจัดหาสาธารณูปโภคให้เพียงพอ และดำเนินการทุกวิถีทางในการดำเนินการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรือหรือเฮลิคอปเตอร์ อย่างไรก็ตาม ตนจะให้นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เข้าไปดูแลเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในจ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเพิ่มมากขึ้น และขอให้ทุกภาคส่วนประสานงานกันเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีระบบและรวดเร็วที่สุด

กระทั่งเวลา 13.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ตอนนี้สถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤติแล้ว แต่ถ้าสามารถระบายน้ำได้ดี ก็ไม่น่าจะมีปัญหา และหนักใจกับสถานการณ์ เพราะจะมีพายุลูกใหม่เข้ามา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกฝ่ายทำงานกันเต็มที่ทุกภาคส่วนและเชื่อว่าจะรับมือได้ จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยนายปลอดประสพ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม และนายวิบูลย์ ได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์(พล.ม.2) ไปยังสนามกีฬากลาง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจสภาพน้ำท่วมและเยี่ยมประชาชน โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนตามจุด รวมทั้งการป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรมไม่ให้เสียหายไปมากกว่าที่เป็นอยู่


วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายภิญโญ ทองสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถลงถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ว่า เขื่อนอุบลรัตน์มีระดับน้ำ 183 เมตร เหนือระดับทะเลปานกลาง สูงกว่าระดับเก็บกักปกติ 107 เซนติเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 926 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำที่ระบายออก 42-50 ลบ.ม. หรือประมาณ 451 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ 80 ลบ.ม. ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ดำเนินการให้เกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนด้านเหนือน้ำและด้านท้ายน้ำน้อย ที่สุด ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น โดยได้ระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำ ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2554 เป็นต้นมา และปัจจุบันยังมีความจำเป็นต้องระบายน้ำต่อไปอีก จนกว่าระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงถึงระดับเก็บกักปกติ ระดับ 182. ม. เหนือระดับทะเลปานกลาง และจากอิทธิพลพายุเนสาด ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่รับน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จึงมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนมากกว่าการระบายออก และหากในระยะ 1-2 วันนี้ มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมาก เขื่อนอาจจะมีการระบายน้ำ ในระดับเข้า 100% ระบายออก 100% ก็เป็นได้ จึงฝากถึงประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัยอย่างเร่งด่วน

นายภิญโญ กล่าวอีกว่า เขื่อนอุบลรัตน์ได้มีบทบาทการช่วยลดความเสียหายและความเดือดร้อนของราษฎรที่ อยู่ท้ายเขื่อนได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือน ก.ย. 2554 ในวันที่ 1 กั.ย.-6 ต.ค. เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสูงมากถึง 2,840 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ย 79 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ปล่อยน้ำ 40 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่มีการปล่อยน้ำลงไปด้านท้ายน้ำ 863 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น คิดเป็นเพียง 30% ของปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเท่านั้น ปริมาณน้ำอีก 1,977 ล้าน ลบ.ม. หรือ 70% ของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่าง เป็นส่วนที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้เก็บไว้ ทำให้สามารถลดการเกิดอุทกภัยด้านท้ายน้ำได้เป็นจำนวนมาก และจากการที่ผู้สื่อข่าวได้เดินสำรวจบริเวณรอบๆสันเขื่อน ซึ่งตามปกติจะให้ประชาชนเดินชมทิวทัศน์บนสันเขื่อนได้ แต่ในขณะนี้ทางเขื่อนได้นำป้ายบอกเขตอันตรายและขึงเชือกเป็นเขตห้ามเข้าเอา ไว้.

...