อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จ.อุดรธานี อั้นไม่ไหว ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำ ปล่อยน้ำท่วมนาอีกระลอก ...
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน เกิดฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ.เมือง สามารถวัดปริมาณน้ำฝนได้ 60.7 มม. ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระดับเก็บกักปกติ 118 ล้าน ลบม. เพิ่มขึ้นมาเป็น 134 ล้าน ลบม. จึงตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำ จากเดิมที่เปิดอยู่แล้ว 30 ซม. ขึ้นเป็น 70 ซม. หรือระบายน้ำออกเพิ่มขึ้นจาก 3.2 ล้าน ลบม. มาเป็น 7.8 ล้าน ลบม.ต่อวัน ทำให้ปริมาณน้ำในลำห้วยหลวง ซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้วต้องเอ่อล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมถนน บ้านเรือน และพื้นที่นาข้าว และการเกษตรของชาวบ้าน เป็นบริเวณกว้างตลอดสองฝั่งลำห้วยหลวง ตั้งแต่บริเวณบ้านหัวขัว อ.กุดจับ ต่อมายัง อ.เมือง , อ.เพ็ญ , อ.พิบูลย์รักษ์ , อ.สร้างคอม และต่อไปจนถึง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ขณะเดียวกันก็มีการระบายน้ำออกมาอีก 3 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำบ้านจั่นวันละ 1.2 ล้าน ลบม. , อ่างเก็บน้ำกุดลิงง้อวันละ 5 แสน ลบม. และ อ่างเก็บน้ำหนองสำโรงวันละ 1.1 ล้าน ลบม. ซึ่งทั้งหมดก็จะไหลลงลำน้ำห้วยหลวงด้วย
...
ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น.ที่ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 ศาลากลาง จ.อุดรธานี นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี ได้เรียกประชุมด่วน นายอำเภอ , ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย จ.อุดรธานี , ชลประทานที่ 5 , ชลประทานอุดรธานี , เกษตรจังหวัด พร้อมออกประกาศเตือนประชาชน เตรียมรับกับลำน้ำห้วยหลวงล้นตลิ่ง ตลอดลำห้วยหลวง และลำน้ำสาขา และสั่งการให้ทุกหน่วยงาน ลงให้ความช่วยเหลือประชาชน ก่อนเดินทางตรวจ บ.เชียงยืน , บ.จำปา และ บ.ป่อง ต.เชียงยืน อ.เมือง ที่มีน้ำท่วมถนน บ้านเรือน และนาข้าว
นายคมสัน กล่าวว่า ฝนที่ตกลงมาติดต่อกันหลายสัปดาห์ น้ำไหลเข้าอ่างทุกแห่งจำนนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง และอ่างเก็บน้ำอื่นๆ เพื่อรักษาการความคงของอ่างเก็บน้ำไว้ โดยจะค่อยๆระบายน้ำออกมา ให้ได้เท่ากับน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ ขณะที่อ่างใดสามารถเก็บน้ำไว้ได้ ก็ให้ชะลอการปล่อยน้ำไปก่อน ซึ่งจากการระบายน้ำออกมาในวันนี้ ปริมาณน้ำที่ออกมาทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนบ้าง ไม่ถึงกับขั้นรุนแรง และทำให้อ่างเก็บน้ำรักษาระดับน้ำทรงตัว หากไม่มีฝนตกลงมาก็น่าผ่านพ้นวิกฤตไปได้ หากยังมีฝนตกลงมาอยู่ ก็จะพยายามบริหารน้ำให้เดือดร้อนน้อยที่สุด.