กรมทรัพยากรน้ำเดินหน้าติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่ม ใน จ.ภูเก็ตและพังงากว่า 30 จุดหวังลดความสูญเสียจากโศกนาฎกรรม เชื่อแจ้งเตือนประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้ภายในเวลา 1-3 ชั่วโมง ...
วันที่ 20 ก.ค.ที่โรงแรมเมโทรโพลภูเก็ต อ.เมือง นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่-ประชาชน ในโครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า Early Warning สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่มในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขา ปีงบประมาณ 54 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำจัดขึ้นเพื่อระดมแนวความคิดการพิจารณาพื้นที่ติดตั้งระบบ เตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา โดยมีนายวิวัฒน์ โสเจยยะ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาและอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความเสียงที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม-ดินถล่มสูง และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงและการตัดทำลายต้นไม้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขา จึงจำเป็นที่จะต้องหามาตรการในการป้องกันและลดความเสียหายจากเหตุการณ์ภัย พิบัติทางธรรมชาติ โดยมาตรการที่จะลดความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ คือ มาตรการการเฝ้าระวังและการเตือนภัยล่วงหน้าหรือ Early Warning System ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยการตรวจวัดข้อมูลปริมาณน้ำฝนหรือระดับน้ำท่า และนำข้อมูลที่ได้ไปประมวล โดยผู้เชี่ยวชาญในการประกาศเตือนให้ประชาชนทราบและเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินโครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพื้นที่เสี่ยง อุทกภัย-ดินถล่มในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขาได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 47 โดยการสำรวจจุดติดตั้งระบบเตือนภัยในหมู่บ้านที่มีศักยภาพ และสามารถแจ้งเตือนภัยไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันได้มีการดำเนินการครอบคลุมในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่ม 1,567 หมู่บ้าน จากจำนวนพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ 2,370 หมู่บ้าน ซึ่งในปีงบประมาณ 54 กรมทรัพยากรน้ำได้รับงบประมาณติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้าประจำหมู่บ้าน เพิ่มเติม จากที่มีการดำเนินการไปแล้วอีกกว่า 155 ล้านบาท โดยดำเนินการในพื้นที่ 803 หมู่บ้าน 263 สถานี โดยจะเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุด
นายวิวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ จ.ภูเก็ต และ จ.พังงานั้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการระดมความคิดของคนในพื้นที่ถึงจุดติดตั้งที่เหมาะสมว่า ควรจะติดตั้งที่บริเวณใด ซึ่งจากการสำรวจนั้น จ.ภูเก็ตมีเป้าหมายในการดำเนินการ 3 สถานี 15 จุด ส่วน จ.พังงามีเป้าหมาย 10 สถานี 21 จุด ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีความครอบคลุมในพื้นที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับพื้นที่ เนื่องจากขณะนี้สภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง ฝนตกชุกหน้าแน่นตลอดปี ส่งผลให้สภาพดินมีความเปลี่ยนแปลง กรมทรัพยากรน้ำจึงได้ทำการสำรวจเพื่อติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะมีการเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อของบประมาณมาดำเนินการเพิ่มเติม ซึ่งไม่ได้ดำเนินการเฉพาะ จ.ภูเก็ต หรือ จ.พังงา แต่จะเป็นการสำรวจใหม่ทั่วทั้งประเทศ เพื่อเป็นการลดความสูญเสียจากเหตุการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย เชื่อว่าถ้าสามารถทำได้ครอบคลุมจะช่วยเหลือประชาชนได้มาก อย่างไรก็ตาม การติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้านั้น ตัวเครื่องจะมีการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนและแจ้งไปยังศูนย์ข้อมูลทุก 15 นาที โดยมั่นใจว่าจะสามารถแจ้งเตือนประชาชนให้ออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้ภายในเวลา 1-3 ชั่วโมง.
...