นักวิชาการระบุ "แมงกะพรุน" ที่พบบริเวณหาดรอบเกาะภูเก็ต มีพิษร้ายแรง เตือนห้ามสัมผัสเด็ดขาดแม้จะมีสีสันสวยงานแต่พิษถึงตาย คาดที่พบมากช่วงนี้เพราะมรสุม-มีลมพัดเข้าฝั่ง...
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 มิ.ย. นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน แหลมพันวา ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ตกล่าวถึงกรณีพบแมงกะพรุนสายพันธุ์ในตระกูลเดียวกับแมงกะพรุนไฟ และมีพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตว่า หลังจากที่สถาบันฯได้รับแจ้งจากบีชการ์ดประจำอยู่ที่หาดในทอน อ.ถลาง และหาดในหาน อ.เมืองภูเก็ต ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างกลับมาตรวจสอบ ปรากฏว่าแมงกะพรุนที่พบบริเวณชายหาดทั้ง 2 แห่งเป็นแมงกะพรุนแบบมีพิษในกลุ่ม Hydrozoa วงศ์ Physalidae ชนิด Physalia sp ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Portuguese Man O’War หรือ Blue bottle ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มแมงกะพรุนไฟ พบได้ทั่วไปในเขตน้ำอุ่น และมีรายงานพบบ่อยครั้งในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งในฝั่งทะเลอันดามันมีรายงานการพบแมงกะพรุนชนิดนี้เป็นครั้งแรกใน จ.ภูเก็ต และประเทศไทย โดยเชื่อว่าน่าจะพบกระจายไปทั่วทุกหาดรอบๆ เกาะภูเก็ต
ขณะนี้สถาบันฯ ได้ทำหนังสือแจ้งประสานไปยังจังหวัดภูเก็ตและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่มีชายหาด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติที่ลงเล่นน้ำบริเวณชายหาดต่างๆ ให้ระมัดระวัง อย่าสัมผัสกับแมงกะพรุนดังกล่าว ซึ่งแมงกะพรุนไฟจะมีลักษณะสีฟ้าสดใส-สวยงาม น่าสัมผัส แต่เมื่อไปถูกหรือสัมผัสจะได้รับอันตรายจากพิษของแมงกะพรุนทันที แม้แต่ตัวที่ตายแล้วยังมีพิษ
ผอ.สถาบันวิจัยฯ กล่าวเพิ่มว่า การสัมผัสกับแมงกะพรุนดังกล่าวจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้หลายระดับ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ตั้งแต่อาการแสบคันจนถึงปวดแสบปวดร้อน กรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้นำผู้บาดเจ็บขึ้นจากน้ำและใช้วัสดุแข็ง เช่น กระดาษ บัตรเอทีเอ็มหรือไม้เขี่ยหนวดออกจากบริเวณที่สัมผัส ห้ามใช้มือสัมผัสโดยตรงเด็ดขาด จากนั้นราดด้วยน้ำทะเลหรือน้ำส้มสายชู เพื่อรอดูอาการ หากมีอาการรุนแรงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล และผู้ที่ถูกพิษแมงกะพรุนดังกล่าวอย่างขยี้บริเวณที่ถูกพิษ เพราะจะทำให้พิษกระจายได้ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ที่ถูกพิษของแมงกะพรุนไฟจนบาดเจ็บสาหัสหรือเสีย ชีวิต ส่วนสาเหตุที่มีการพบแมงกะพรุนดังกล่าวค่อนข้างมากในระยะนี้เนื่องจากเป็น ช่วงมรสุม-มีลมพัดเข้าฝั่ง ทำให้แมงกะพรุนที่ลอยอยู่ในท้องทะเลถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง.
...