ศาลแพ่งพิจารณายกคำร้อง กรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฟ้องนายกฯ ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชี้ไร้เหตุผลต้องคุ้มครองชั่วคราว...

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 มี.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลแพ่ง ศาลอ่านคำสั่งในคดีที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และสมาชิกเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย และนายทศพล แก้วทิมา กรรมการเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-2 เรื่องละเมิด ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ประกาศทุกฉบับที่ออกตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เป็นโมฆะ

ศาลพิเคราะห์จากคำเบิกความในชั้นไต่สวนแล้วเห็นว่า ประกาศของจำเลยที่ 1 ได้กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ก่อให้เกิดความเดือดร้อนโดยการปิดการจราจร และมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวตามเส้นทาง รวมทั้งมีการปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญในกรุงเทพฯ โดยโจทก์และกลุ่มเครือข่ายประชาชนหัวใจรักชาติ ร่วมชุมนุมบริเวณประตู 4 ด้านข้างทำเนียบรัฐบาล ถ.พิษณุโลก ตั้งแต่สะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถึงแยกมิสกวัน ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 53 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการปักปันเขตแดน เห็นว่า จำเลยที่ 1 ออกประกาศเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 54 โดยมีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 9- 23 ก.พ. 54 และยังออกประกาศต่อมาในวันที่ 22 ก.พ. 54 โดยให้มีผลใช้บังคับระหว่างวันที่ 24 ก.พ. - 25 มี.ค. 54 มีเนื้อความต่อเนื่องกับเหตุการณ์ตามประกาศฉบับแรก เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อเนื่องกัน แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสาม ไม่ได้ยื่นคำฟ้องคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ตั้งแต่ประกาศฉบับแรกมีผลใช้บังคับ แต่กลับยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 54 หลังจากที่ประกาศฉบับแรกใช้บังคับแล้ว 16 วัน กรณียังไม่มีเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งประกาศของจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ และห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งใดๆ อีกต่อไป เห็นว่า เมื่อศาลยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยว่า ประกาศของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่สามารถบังคับใช้ได้อีกต่อไป ประกาศที่ออกนั้นจึงยังมีผลบังคับใช้ ดังนั้น การที่ศาลจำมีคำสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 ออกคำสั่งใดๆ ทั้งที่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าประกาศของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะมีผลเสมือนว่าศาลได้วินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดีตั้งแต่ในชั้นขอคุ้มครองชั่วคราว กรณียังฟังไม่ได้ว่ามีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 และมาตรา 267 จึงให้ยกฟ้องคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน และคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ก่อนพิพากษาของโจทก์ทั้งสาม

ขณะเดียวกันที่ห้อง พิจารณา 612 ศาลแพ่ง ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน และคำขอคุ้มครอง ที่นายประพันธ์ คูณมี กรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี (ยกฟ้องแล้ว) และ พล.ต.อ.วิเชียร ผบ.ตร. จำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการออกประกาศ และข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศและข้อกำหนดทุกฉบับ

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความในชั้นไต่สวนแล้วเห็นว่า คำร้องโจทก์ เป็นการขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราว ไม่ให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ก่อนว่าคดีมีเหตุฉุกเฉิน และคำขอของโจทก์มีเหตุผลสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255, 266 และ 267 ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้ง ถึงพฤติการณ์ที่เป็นเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโจทก์ เป็นการเร่งด่วน และเมื่อพิจารณาจากระยะเวลาในการยื่นคำร้อง พบว่า นับจากวันที่จำเลยที่ 1 และ 3 ออกประกาศ เมื่อวันที่ 8 และ 9 ก.พ.54 ตามลำดับ จนถึงวันที่โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องในวันที่ 24 ก.พ.54 เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉินนั้น เป็นเวลาที่ล่วงเลยมากว่า 15 วัน แม้ต่อมาประกาศที่ออกเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 54 ของจำเลยที่ 1 จะสิ้นผลลง และจำเลยที่ 1 ออกประกาศฉบับใหม่ในวันที่ 22 ก.พ. 54 แต่ข้อความในประกาศทั้งสองฉบับเหมือนกันทุกประการ และประกาศฉบับลงวันที่ 22 ก.พ. 54 ได้กำหนดให้ประกาศที่ออกเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 54 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป

ดังนั้นประกาศของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 22 ก.พ. จึงมีผลเพียงการขยายระยะเวลาของประกาศฉบับลงวันที่ 8 ก.พ.54 ให้มีผลบังคับใช้ต่อไปอีก จนถึงวันที่ 25 มี.ค.54 เท่านั้น ความเสียหายและเดือดร้อนของโจทก์ทั้งสอง ที่เกิดจากผลของประกาศจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้าง จึงต้องมีอยู่ตั้งแต่ออกประกาศฉบับแรกเมื่อวันที่ 8 ก.พ.54 แล้ว พฤติการณ์แห่งคดีจึงยังไม่พอฟังได้ว่าคดีมีเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้ที่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศและข้อกำหนดทุกฉบับ โดยอ้างว่าเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งห้ามให้จำเลยที่ 3 ออกคำสั่งใดๆ ที่อาศัยอำนาจตามความในวันประกาศดังกล่าวนั้น ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าการออกประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำพิพากษา หรือคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ดังนั้นประกาศที่ออกโดยจำเลยที่ 1 และ 3 ยังคงมีผลบังคับใช้กับโจทก์และบุคคลทั่วไปได้ โจทก์จึงย่อมมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยภายในบ้านเมือง

ศาลจึงมีคำสั่งยกคำร้องขอไต่สวนในเหตุฉุกเฉิน และคำร้องขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ทั้งสอง ศาลกำหนดนัดชี้ 2 สถาน เพื่อกำหนดประเด็นนำสืบคดีและวันสืบพยาน คดีทั้งสองสำนวนในวันที่ 9 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ กล่าวว่า หลังศาลแพ่งยกคำร้อง จะยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามมาตรา 211 ว่าคำสั่งตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ทั้ง 6 ฉบับของรัฐบาล ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลแพ่งยกคำร้องไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้สิทธิ์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง ตามมาตรา 212 หากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ การพิจารณาคดีในศาลแพ่งต้องพักการพิจารณาไว้ก่อน ยังไม่สามารถที่จะมีคำพิพากษาได้ ส่วนการชุมนุมของพันธมิตรฯ ยังคงดำเนินการต่อไป.

...