ชาวนาอยุธยาขู่ปิดถนนสายเอเชีย หวังกดดันรัฐบาลแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ยืนยัน 22 กุมภาพันธ์ นี้ จับมือเครือข่ายชาวนาอีก 22 จังหวัด เคลื่อนไหวแน่...
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวใน อ.ลาดบัวหลวง อ.บางซ้าย อ.เสนา อ.ผักไห่ และ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 300 คน รวมตัวชุมนุมเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาราคาข้าว ที่กำลังตกต่ำ บริเวณ ม.6 ต.บ้านเกาะ อ.บางไทร พร้อมกับเปิดเวทีปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล ไม่สามารถการแก้ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำได้
นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนพร้อมตัวแทนชาวนาประมาณ 30 คน ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อยื่นหนังสือผ่านไปยังกระทรวงพานิชย์ ขอให้ช่วยเหลือในเรื่องของการปรับราคาประกันรายได้ข้าวเปลือกเจ้า ที่ความชื้นไม่เกิน 15 % จากเดิมตันละ 10,000 บาท เป็นตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกหอมจังหวัดจากเดิมตันละ 14,300 บาท เป็นตันละ 16,000 บาท และขอให้มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดปริมาณข้าวตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรจาก เดิมครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน เป็นครัวเรือนละไม่เกิน 40 ตัน แต่ที่ผ่านมา กระทรวงพานิชย์และรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และไม่มีการตอบกลับให้ชาวนาได้รับรู้แต่อย่างใด จึงได้กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล
ทั้งนี้ จะมีการประสานงานกับกลุ่มชาวนาในอีก 22 จังหวัดฯ เพื่อเคลื่อนไหวให้รัฐบาลหามาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำอย่างมาก โดยในวันที่ 22 ก.พ.นี้ จะส่งตัวแทนเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และให้ชาวนาแต่ละจังหวัดชุมนุมอยู่ในพื้นที่ หากไม่เป็นผลในการเรียกร้อง ชาวนาทั้งหมดจะเคลื่อนเข้ามาชุมนุมรวมกันที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ก่อนหน้านี้ชาวนาทั้งหมดเคยตกลงกันว่าจะไปชุมนุมกันที่กระทรวงพานิชย์ และปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เนื่องจากมีการชุมนุมของหลายกลุ่มจึงเกรงว่าจะไม่สะดวก และถูกมองว่าเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมการเมือง จึงตัดสินใจปักหลักชุมนุมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และยืนยันว่าการชุมนุมที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จะไม่ชุมนุมแบบเหมือนที่เคยทำมา แต่อาจจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งกลุ่มชาวนาต้องขอโทษมาล่วงหน้า
...

ด้าน นายขวัญชัย มหาชื่นใจ ผู้ประสานงานผู้ปลูกข้าวเขตภาคกลาง กล่าวว่า การรวมตัวหาข้อกำหนดเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลครั้งนี้ ชาวนาทั้งหมดมาด้วยความสมัครใจและการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ชาวนาต้องการให้ รัฐบาลปรับราคาประกันราคาข้าวจาก 10,000 บาท เป็น 14,000 บาท และเพิ่มโควตาจาก 25 ตัน เป็น 40 ตัน นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลควบคุมราคายาและสารเคมีต่างๆ ที่ปรับขึ้นอย่างมาก ซึ่งหากภายในวันอังคารนี้ไม่ได้รับคำตอบ กลุ่มชาวนาทั้งหมด ก็จะมีวิธีกดดันที่เข้มข้นขึ้น โดยก่อนหน้านี้ชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง เคยทำการประท้วงด้วยการปิดถนนมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งจริงแล้วชาวนาไม่ต้องการกดดันรัฐบาลด้วยวิธีการดังกล่าว
ส่วนนายสมชัย ไตรถาวร ผู้ประสานงานผู้ปลูกข้าว อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ที่ผ่านมานายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยาเคยประชุมหารือกับชาวนาที่วัดช่างเหล็ก อ.บางไทรแต่กลับพูดว่า “ชาวนาอยุธยาปลูกข้าวไม่ดีให้ไปปลูกอ้อยและข้าวโพดแทน” สร้างความไม่พอใจให้กับชาวนา แต่ วิธีการปิดถนนเรียกร้องรัฐบาล เป็นวิธีสุดท้ายหากไม่ได้รับการตอบสนองตามข้อเรียกร้อง และยืนยันว่าที่ผ่านมาชาวนาทำนาขาดทุนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าและยากำจัดศรัตรูพืชขึ้นอย่างมาก กระทรวงพานิชย์และรัฐบาล ไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย นอกจากนี้ยังสังเกตได้ว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรไม่ได้ทำให้ราคาสินค้า ทางการเกษตรดีขึ้นเหมือนอย่างที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้
ผู้ประสานงานผู้ปลูกข้าว อ.บางไทร กล่าวด้วยว่า ในทางกลับกันพบว่าชาวนากลับถูกพ่อค้าคนกลาง และโรงสีกดราคาในการรับซื้อข้าวมากกว่า เพราะฉะนั้นหากในวันอังคารนี้ กระทรวงพานิชย์และรัฐบาลยังนิ่งเฉยชาวนาก็ต้องต่อสู้เพื่อปากท้องของตนเอง บ้างนายฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย อายุ 40 ปีอยู่บ้านเลขที่ 37/2 หมู่ 1 ต.มารวิชัย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยาชาวนาบอกว่าตนทำนาจำนวน 60 ไร่ปลูกข้าวมีปัญหาศัตรูพืชระบาด ต้นทุนสูงเก็บเกี่ยวกลับได้ราคาต่ำอีกจึงขอให้รัฐบาลช่วยเหลือไม่เช่นนั้น ชาวนาแบกภาระหนี้สินจึงจำเป็นต้องออกมาประท้วงร่วมกับชาวนาที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน.