กทพ.เร่งคอนซัลต์ทำรายละเอียดเสนอบอร์ด คาดไม่มีปัญหา อาจจะขอใช้พื้นที่โดยจ่ายเงินเป็นค่าเช่า -การจ่ายขาดค่าชดเชยที่ดิน โดยใช้เวลาในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดภายใน 18 เดือน...

นายอัยยณัฐ ถินอภัย รองผู้ว่าการ ฝ่ายกฎหมายฯ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ครม.ได้เห็นชอบรูปแบบการลงทุนโครงการทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก แบบ Public Private Partnerships (PPP) แล้ว กทพ.ได้ดำเนินการเรื่องการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งมี 2 ส่วน คือ 1.ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชน จะเร่งดำเนินการร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เพื่อนำเสนอ ครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามกระบวนการราว 7-8 เดือน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอบริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายละเอียดเสนอบอร์ดพิจารณาเร็วๆนี้ ซึ่งเบื้องต้นพบว่า จะมีการเวนคืนบ้านเรือนประชาชนเฉพาะบริเวณทางขึ้นลงเท่านั้น  ซึ่งจะให้ราคาที่ดินชดเชยที่เป็นธรรมกับประชาชน ส่วนตัวโครงการหลักจะใช้แนวเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงไม่ต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นของประชาชนเหมือนโครงการอื่นๆที่ใช้เขตทางหลักเป็นถนนตัดใหม่  2.ในส่วนของการใช้พื้นที่ รฟท.นั้น จะเจรจาร่วมกัน คาดว่าไม่มีปัญหา อาจจะขอใช้พื้นที่โดยจ่ายเงินเป็นค่าเช่า หรือการจ่ายขาดค่าชดเชยที่ดิน โดยจะใช้เวลาในการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดภายใน 18 เดือน แต่ในส่วนเขตทางหลักของ รฟท.สามารถเข้าพื้นที่ได้ก่อน ใช้งบเวนคืนราว 9,000-10,000 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัทที่ปรึกษาประเมินพบว่า มีประชาชนที่จะถูกเวนคืนราว 1,000 ราย สำหรับทางขึ้นลงทางแยกต่างระดับกำหนดไว้ 7 จุด ได้แก่ ทางขึ้น-ลง (ทางแยกต่างระดับ) กาญจนาภิเษก ทางขึ้นลงราชพฤกษ์ ทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี ทางขึ้นลงบางบำหรุ (ถนนสิรินธร) ทางขึ้นลงจรัญสนิทวงศ์ ทางขึ้นลงพระรามเก้า และทางขึ้นลงกำแพงเพชร (ทางแยกต่างระดับศรีรัช) ทั้งนี้ กทพ.เร่งรัดให้ได้ผู้รับเหมาก่อสร้างภายในปลายปี 2554 และหากมีการก่อสร้างได้ในปีเดียวกัน โครงการจะแล้วเสร็จในปี 2558 ระยะทาง 16.7 กม. วงเงินลงทุน 27,022 ล้านบาท  เบื้องต้นกำหนดค่าผ่านทางเริ่มต้น 5 ปีแรกที่ 50 บาท และปรับขึ้นทุก 5 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ ทั้งนี้ แนวสายทางเริ่มต้นที่ต้นทางพิเศษศรีรัชเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งสายเหนือ (หมอชิต 2) จากนั้นแนวสายทางจะไปทางทิศตะวันตก โดยใช้พื้นที่เขตทางรถไฟสายตะวันตก (สายใต้เดิม) ตั้งแต่บริเวณบางซื่อ และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 6 หลังจากนั้นแนวสาย ทางยังคงไปตามเขตทางรถไฟ โดยขนานไปกับถนนบรมราชชนนีจนถึงวงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก.

...