เมืองกรุงเก่าเป็นตัวเต็งจัด WORLD EXPO 2020 หลังมีความพร้อมครบทุกด้าน ประธานสภาอุตสาหกรรมอยุธยาฟุ้ง หากได้เป็นเจ้าภาพจริง จะทำให้หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางมีเงินหมุนเวียนตามไปด้วย...
เมื่อเวลา 09.30 น. 5 ม.ค. นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ นายวินเซนท์ กอนซาเลส เลขาธิการสำนักงานมหกรรมโลก ผู้ดูแลกระบวนการนำเสนอและการตัดสินใจเลือกเจ้าภาพจัดงาน WORLD EXPO 2020 จะเดินทางมาตรวจความพร้อมของ จ.พระนครศรีอยุธยา ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลกดังกล่าว โดยจะมีการเสนอข้อมูลภาพรวมของจังหวัด แหล่งท่องเที่ยว วัดวาอาราม พร้อมชมพื้นที่โดยรอบด้วยการขึ้นเฮลิคอปเตอร์ด้านหน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เพื่อนำกลับไปประมวลอีกครั้งว่าเหมาะสมที่จะได้รับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวหรือไม่
โดยนายวิทยา กล่าวว่า พระนครศรีอยุธยายังคงชูจุดขายในเรื่องของความเป็นเมืองวัฒนธรรมที่มีสายน้ำไหลผ่าน มีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนต่างศาสนาที่อยู่ร่วมกัน เพราะเป็นสิ่งที่พระนครศรีอยุธยามีพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเพิ่มเติมอะไรมาก สิ่งสำคัญคือประเทศไทยจะได้เผยแพร่ผลิตภัณฑ์งานศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้คนทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้นด้วย ไม่ใช่ขายเฉพาะการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว
ด้านนายทศพล วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า พระนครศรีอยุธยามีศักยภาพและความพร้อมรองรับมหกรรมโลก World Expo 2020 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ปี 2551 เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ มูลค่า 419,657 ล้านบาท รายได้เฉลี่ย 548,678 บาทต่อคนต่อปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 และกรุงเทพฯ เฉลี่ยต่อหัว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกันจาก ปี 2550-52 มีค่าเท่ากับ 302,578 318,730 และ 320,884 บาทต่อปี ตามลำดับ
"สำหรับแนวโน้มของรายได้ประชากรในปี 2563 คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 3 ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พระนครศรีอยุธยา สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ออกต่างประเทศก็ได้ เช่น จีน ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สามารถเดินทางมาได้โดยทางรถยนต์และรถไฟ ที่เชื่อมต่อโดยเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ส่วนโครงข่ายการคมนาคมทางถนนนั้น พระนครศรีอยุธยามีทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) จากกรุงเทพฯมุ่งสู่ภาคอีสาน ทางหลวงหมายเลข 32 จากกรุงเทพฯมุ่งสู่ภาคเหนือ ทางหลวงหมายเลข 347 และทางหลวงหมายเลข 3442 เชื่อมต่อไปยังจ.ปทุมธานี ทางหลวงหมายเลข 306 (ถ.ติวานนท์) ทางด่วนสายปากเกร็ด-บางปะอิน ลงทางด่วนบางปะอิน ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 และหมายเลข 7 เดินทางเชื่อมต่อไปยังสนามบินสุวรรณภูมิด้วยระยะทางเพียง 100 กิโลเมตร หรือเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 200 กิโลเมตร ส่วนแผนการพัฒนาด้านการคมนาคมในอนาคต จะมีโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครสวรรค์ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองบางปะอิน-นครราชสีมา โครงการก่อสร้างทางหลวงสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 โดยโครงข่ายการคมนาคมทางถนนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะทำให้ใช้ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯไม่เกิน 40 นาที
ขณะที่โครงข่ายการคมนาคมระบบราง จะมีการก่อสร้างรถไฟจากกรุงเทพฯ-อยุธยา ในระบบรางคู่ อีกทั้งยังมีเส้นทางการเดินรถไฟที่ผ่านพระนครศรีอยุธยา 2 สายคือ ขบวนรถโดยสารที่มีปลายทางสู่ภาคเหนือ ไป-กลับ วันละ 18 ขบวน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไป-กลับ วันละ 20 ขบวน ลงได้ 2 สถานีคือ สถานีเชียงรากน้อยและบางปะอิน อีกทั้งการเดินทางโดยรถไฟเข้ากรุงเทพฯ สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าใต้ดินและระบบ Airport Link ที่สถานีหัวลำโพง และสถานีรถไฟบางซื่อ ได้อย่างสะดวก" ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าว
นอกจากนี้ นายทศพล กล่าวอีกด้วยว่า รัฐบาลมีแผนพัฒนาและลงทุนในโครงข่ายระบบรางในอนาคตด้วยความเร็วสูง (High Speed Train) กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และ กรุงเทพฯ-หนองคาย มายังพระนครศรีอยุธยา ทำให้ย่นระยะเวลาในการเดินทาง และการขนส่งจากกรุงเทพฯ-อยุธยา เหลือไม่เกิน 30 นาที ส่วนโครงข่ายการคมนาคมทางอากาศสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาโดยเครื่องบิน สามารถลงได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ถึงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์) ระยะทาง 82 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 50 นาที และสนามบินดอนเมืองถึงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร (ใช้เส้นทางพหลโยธิน) ระยะทาง 42 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 30 นาที ส่วนโครงข่ายการคมนาคมทางน้ำ รัฐบาลได้ส่งเสริมเรื่องระบบโลจิสติกส์ เพื่อการขนส่งทางน้ำที่ใช้ต้นทุนต่ำ สามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำ ในการนำเข้าเครื่องจักร เครื่องกล และอุปกรณ์สำหรับการจัดงาน สามารถขนส่งจากท่าเรือแหลมฉบังมายังท่าเรืออ.บางไทร ได้อย่างสะดวกและประหยัด มีท่าเรืออยุธยาพอร์ท และไอซีดี ถือเป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์แห่งแรก ของอ.นครหลวง เพื่อขนส่งสินค้าและรองรับสินค้าจากภาคกลางและภาคเหนือ และยังมีท่าเรือคอนเทนเนอร์แม่น้ำใหญ่สุดแห่งแรกของไทย บริการขนส่งสินค้าทั่วไป วิ่งตรงจากพระนครศรีอยุธยาสู่ท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมจับมือพันธมิตรกลุ่ม SC Group ให้บริการเรือคอนเทนเนอร์ NGV เจ้าแรก พลิกโฉมสู่ “Green Port” นอกจากนี้ยังมีสถานีขนส่งสินค้าทางลำน้ำเพื่อการประหยัดพลังงาน ตั้งอยู่ที่อ.ท่าเรือ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการขนส่งของภูมิภาคในอนาคต การสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า ระหว่างจุดเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสัก เพื่อประหยัดน้ำมัน และลดการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกเข้าสู่กรุงเทพฯและปริมณฑล
ประธานสภาอุตสาหกรรม พระนครศรีอยุธยา กล่าวอีกว่า ในฐานะที่พระนครศรีอยุธยาเป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัด จึงได้พิจารณาศักยภาพของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี และสระบุรี เพื่อนำมาใช้ในการจัดงานร่วมกัน จะได้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในหลายจังหวัด ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่จังหวัดเดียว ซึ่งแต่ละจังหวัดสามารถเดินทางติดต่อถึงกันได้ ภายใน 30-45 นาที นอกจากนี้ความพร้อมที่พักของโรงแรม รีสอร์ท เกสท์เฮ้าส์ ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 ระดับ 1-5 ดาว ประมาณ 9,677 ห้อง ถ้ารวมกรุงเทพฯ ประมาณ 73,500 ห้อง เนื่องจากการเดินทางใช้เวลา 30 นาที นักท่องเที่ยวที่พักในกทม. สามารถเดินทางมาเที่ยวงานได้โดยสะดวก มีสนามกอล์ฟ 15 แห่ง ศูนย์รักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานระดับสากล 24 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ (รพ.พระนครศรีอยุธยา) 1 แห่ง, โรงพยาบาลทั่วไป (รพ.เสนา) 1 แห่ง, โรงพยาบาลชุมชน (แบ่งเป็น 3 ขนาด) 14 แห่ง, โรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง และมีศูนย์รักษาพยาบาลที่สำคัญตามกลุ่มจังหวัด อาทิ โรงพยาบาลนนทเวช จ.นนทบุรี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาลสระบุรี เป็นต้น ศูนย์ประชุมที่สำคัญของจังหวัด 5 แห่ง รองรับได้แห่งละ 1,000-3,000 คน อาทิ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หอประชุมสงฆ์วัดพนัญเชิงวรวิหาร หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ สำหรับกลุ่มจังหวัดที่มีศูนย์ประชุมรองรับได้ อาทิ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี สถานปฏิบัติธรรมวัดพระธรรมกาย โดยที่ผ่านมามีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจากส่วนกลาง มาใช้สถานที่โรงแรมและศูนย์ประชุมภายในจังหวัด เป็นสถานที่จัดประชุมและนิทรรศการถึงกว่าร้อยละ 60
นายทศพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ความโดดเด่นของพระนครศรีอยุธยา เป็นเมืองมรดกโลก และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลากหลาย แสดงถึงประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะวิธีชีวิตริมสายน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ผู้ที่เคยมาเยือนจังหวัดจะได้สัมผัสบรรยากาศของอยุธยา และความประทับใจในความอลังการของมรดกโลกเมืองเก่า อีกภาพของอยุธยาที่ชัดเจนว่าดินแดนแห่งนี้คือ “เมืองน้ำ” และได้เห็นภาพของความแตกต่างหลากหลายที่สามารถหลอมรวมได้เป็นหนึ่งในเมืองแห่งนี้ นั่นคือวิถีชีวิตของคนต่างศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ อาศัยลำน้ำสี่สายนี้หล่อเลี้ยงชีวิตที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
"นอกจากนี้ พระนครศรีอยุธยาเป็นจังหวัดที่รู้จักกันดีว่า เคยเป็นอดีตเมืองหลวงของไทยมาก่อน เคยมีอาณาจักรอันรุ่งโรจน์มาเป็นเวลานาน มีการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติทั้งเอเชียด้วยกัน และประเทศตะวันตก ได้แก่ ประเทศเพื่อนบ้าน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เปอร์เซีย โปรตุเกส สเปน ฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) อพท. เพื่อทำการศึกษาให้พระนครศรีอยุธยาเป็นพื้นที่พิเศษ ที่สามารถพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ทันสมัย แต่คงความเป็นไทยอย่างยั่งยืน โดยหลังจากงาน World Expo 2020 คาดหวังให้บริเวณนี้เป็นศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงนิทรรศการที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงถึงวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สืบทอดศิลปะและวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การพัฒนา การเรียนรู้ทางอารยธรรม และความเจริญรุ่งเรืองในอดีตให้กับคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ ทางศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งทำงานในระดับนานาชาติ พร้อมจะเข้ามาบริหารจัดการต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องทิ้งร้างเหมือนอย่างหลายประเทศ" นายทศพล กล่าว.
...