พูดกันมานานมากแล้ว สำหรับแผนการขยายเส้นทางการเดินเรือตามลำคลองต่างๆเพื่อแก้ไขจราจรใน กทม. แบบคลองแสนแสบ ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ กทม. ชื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แต่จนถึงวันนี้กรุงเทพฯมีผู้ว่าฯ กทม. เปลี่ยนไปถึง 5 คน ทว่า...การเดินเรือในคลองของ กทม. ก็ยังมีแค่สายเดียวที่คลองแสนแสบ
ล่าสุดบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจด้านการพาณิชย์ของ กทม. ได้รับโอนโครงการนี้มาจากสำนักจราจรและ กทม. (สจส.) ไปดำเนินการต่อ ... "รายงานวันจันทร์" จึงไปคุยกับ คุณอมร กิจเชวงกุล กรรมการ ผู้จัดการบริษัทกรุงเทพธนาคม เพื่อถามถึงโอกาสที่โครงการขยายเส้นทางเดินเรือคลองใน กทม.จะเป็นความจริง...
ถาม-โครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ถึงมาอยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพธนาคม
อมร-ก่อนหน้านี้โครงการอยู่ในความรับผิดชอบของ สจส. แต่ด้วยอุปสรรคในหลายๆด้าน อาทิ เรื่องงบประมาณและการบริหารจัดการ หน่วยงานราชการทำอะไรได้ไม่สะดวกเท่าที่ควร ล่าสุด สจส.จึงตัดสินใจไม่จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาเรื่องนี้ต่อ แต่โอนภารกิจให้ทางเราทำแทน
...
ถาม-ขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนใด และมีเส้นทางไหนบ้างที่จะศึกษา
อมร-หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากทางผู้บริหาร รวมทั้งโอนภารกิจจาก สจส. มา เราใช้เวลาหลายเดือนลงพื้นที่เพื่อศึกษาความเหมาะสม สำหรับเปิดเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งมวลชนหลายเส้นทาง ได้แก่ คลองดาวคะนอง คลองบางซื่อ และคลองภาษีเจริญ ซึ่งทั้งหมดเป็นเส้นทางที่ผ่านทั้งเขตชุมชน เขตเมือง และเชื่อมต่อ แม่น้ำเจ้าพระยาได้
เส้นทางที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้คือ เส้นทางคลองภาษีเจริญ เพราะนอกจากจะเชื่อมกับคลองบางกอกใหญ่ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้แล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงสู่ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสสายตากสิน-บางหว้า ที่สถานี S9 (โพธินิมิตร) ซึ่งคาดว่าใช้เวลาอีกไม่เกิน 2 ปี หรือราวเดือน ธ.ค. 55 จะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้
เส้นทางนี้จะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนถนนเพชรเกษมได้เป็นอย่างดี เนื่องจากคลองภาษีเจริญขนานไปกับถนนเพชรเกษมเกือบตลอดทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ จ.นครปฐม (พุทธมณฑล) บางแค มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ โดยที่ถนนกับคลองห่างจากกันเพียง 200-300 เมตรเท่านั้น
ถาม-กำหนดแผนไว้อย่างไร และจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่
อมร-ขณะนี้เรากำลังเร่งสรุปรูปแบบและงบประมาณเสนอต่อผู้บริหาร กทม. พิจารณาให้ทันภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไปให้เสร็จพร้อมๆกับ รถไฟฟ้าสายตากสิน-บางหว้า
ขั้นตอนดำเนินการ เราจะปรับปรุงท่าเรือหรือโป๊ะใหม่ทั้งหมด โดยใช้ดีไซน์ที่เป็นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้เข้ากันกับชุมชนตามท้องถิ่นนั้นๆ พร้อมกับการบูรณะเส้นทางเดินเลียบคลองให้ดีและสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วย
ส่วนเรื่องเรือนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ต้องการให้จัดหาเรือที่ได้มาตรฐานในราคาไม่แพง ขณะเดียวกัน จะต้องเป็นเรือปรับอากาศ (ติดแอร์) ด้วย เพื่อเป็นการจูงใจหรือดึงดูดประชาชนให้มาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัว
ถาม-ก่อนหน้านี้คลองภาษีเจริญเคยมีเรือโดยสารแล้วแต่ไปไม่รอด
อมร-สาเหตุสำคัญที่การเดินเรือในครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ผู้ที่ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านในชุมชนนั้นๆเท่านั้น คนภายนอกไม่รู้จัก และไม่สามารถเดินทางเข้าออกท่าเรือได้โดยสะดวก อีกทั้งการเดินเรือส่งผลกระทบกับบ้านเรือนริมคลอง จึงเกิดการกระทบกระทั่งและการต่อต้าน
"ที่เรากำลังจะทำนั้น เป็นการปรับปรุงใหม่ทั้งหมด รวมทั้งเรื่องเรือที่จะเป็นแบบท้องลอย 2 ลอนที่กินน้ำไม่ลึก ก่อกระแสคลื่นน้อย พร้อมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในฐานะเจ้าของพื้นที่อย่างเต็มที่ ประกอบกับความต้องการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในปัจจุบัน จึงเชื่อว่าหลังจากที่เปิดใช้พร้อมๆกับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายตากสิน-บางหว้า ในช่วงปลายปี 55 โครงการจะได้รับความนิยม".
...
ปิยะบุตร อนุกูล รายงาน