ชุมนุมต้านโรงไฟฟ้าบางคล้าบานปลาย มรภ.ราชนครินทร์ สั่งปิดเรียน 12-14 มิ.ย.นี้ หลังปัญหาส่อยืดเยื้อ ขณะที่ ตร.เผยเตรียมรวบรวมหลักฐานเสนออัยการ-ศาลออกหมายจับแกนนำ..

ผู้สื่อข่าวรายงานการชุมนุมประท้วงปิดถนน 304 (ฉะเชิงเทรา-พนมสารคาม) ทั้งสองฝั่ง ช่วง กม.12 หมู่ที่ 4 ต.เสม็ดใต้ และถนนบางคล้า-บางตลาด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อต่อต้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติของบริษัท สยามเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ตลอดคืนที่ผ่านมา (11 มิ.ย.) มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก และยืนยันจะชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนกว่าปัญหาจะได้รับแก้ไข ส่งผลให้การจราจรติดขัดและปัญหาบานปลาย

การชุมนุมยืดเยือดังกล่าว ทำให้นายอุทัย ศิริภักดิ์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา สั่งหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 12-14 มิ.ย. เพื่อรอดูท่าทีของกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าบางคล้า ซึ่งชุมนุมปิดถนนยืดเยื้อ จนส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนของนักศึกษา พร้อมทั้งสั่งการให้นักศึกษาซึ่งพักอยู่ในหอพักของศูนย์การศึกษาเขตพื้นที่ ต.หัวไทร อ.บางคล้า จำนวนกว่า 2,000 คน เดินทางกลับบ้าน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 4 วันของการชุมนุมที่ผ่านมา มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเข้าเจรจากับผู้ชุมนุมหลายครั้ง แต่ชาวบ้านยืนยันต้องการให้ยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และจะคงปิดถนนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องจัดการจราจรใหม่ โดยให้เลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน ซึ่งมี 2เส้นทาง คือ ฝั่งขาออกจากถนนฉะเชิงเทรา–บางน้ำเปรี้ยวแยกเข้าเส้นทางบางตลาด-ปากน้ำ ผ่านตัวอำเภอบางคล้า เลี้ยวซ้ายออกถนน 304 ส่วนฝั่งขาเข้าให้ใช้ทางหลวง 331 ฉะเชิงเทรา-สัตหีบ แยกเข้าถนนแหลมประดู่-บ้านโพธิ์ ถึงสี่แยกไฟแดงแล้วเลี้ยวขวาเข้าตัวเมืองฉะเชิงเทรา

...

นายสุรพล พงษ์ทัดศิริกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ได้พยามเจราจากับชาวบ้านให้เปิดถนนหลายต่อหลายครั้งแล้วแต่ ก็ไม่เป็นผล จึงเชิญผู้นำท้องถิ่น นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จากทั้ง 4 ตำบล ของอำเภอบางคล้า ร่วมประชุมชี้แจงทำความเข้าใจและขอความร่วมมือทั้งชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการชุมนุมประท้วง นอกจากจะเกิดความเสียหายในด้านเศรษฐกิจการคมนาคมแล้ว อาจจะส่งผลต่อความเสียหายให้แก่ภาครัฐด้วยเนื่องจากบริษัทผู้ได้รับสัมปทาน อาจจะนำเป็นข้ออ้างที่มีการระบุไว้ในสัญญาระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกับบริษัท ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ควรปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน เพราะบริษัทยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ และยังไม่มีการทำประชาพิจารณ์ หากไม่ผ่านคณะ กรรมการสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม หรือประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องการ ก็จะไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้

ด้าน พล.ต.ต.สุรพงษ์ กายตะวัน ผบก. ภ.จว.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีประชาชนผู้เดือดร้อนเข้าร้องทุกข์กับตำรวจจำนวนมากพนักงานสอบสวน ได้สอบปากคำ พร้อมรวบรวมพยานหลักฐานเสนอต่ออัยการจังหวัดฉะเชิงเทราก่อนที่จะเสนอต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อออกหมายจับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป โดยเสนอศาลจังหวัดพิจารณาคุ้มครองประชาชนผู้เดือดร้อนและให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเส้นทาง ส่วนจะพิจารณาเป็นเช่นไรก็อยู่ในดุลยพินิจของศาล