จากกรณีเกิดปัญหาเถาวัลย์หลากหลายสายพันธุ์ แพร่กระจายไปทั่วพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จนหลายฝ่าย ทั้งสมาชิกวุฒิสภา นักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักวิชาการ ได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข ก่อนจะบานปลายไปกระทบกับระบบนิเวศวิทยาและวิถีชีวิตของสัตว์ป่าที่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมในการหากินตามธรรมชาติ  โดยล่าสุดอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ออกมาขานรับที่จะส่งทีมนักวิชาการเข้าไปตรวจสอบและวางแนวทางแก้ไขให้ระบบนิเวศดังกล่าว เพื่อให้เกิดความสมดุลตามหลักวิชาการและประกาศจะนำเอาปัญหาของป่าแก่งกระจานเป็นป่านำร่องในการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้ที่มีอยู่ทั่วทุกป่าทั้งประเทศ ตามข่าวที่ได้เสนอมาตามลำดับ

สำหรับความคืบหน้ากรณีดังกล่าว  ทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาค  "ไทยรัฐ"  รายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ย. น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ที่เป็นนักอนุรักษ์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งของวุฒิสภา และของท้องถิ่น จ.เพชรบุรี ได้เปิดเผยว่า ปัญหาเถาวัลย์ที่กำลังเกิดขึ้นกับผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน  ตนเคยปรึกษา
กับ ศ.ดร.สนิท  อักษรแก้ว  ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ได้รับการยอมรับกันทั้งประเทศ ซึ่ง ศ.ดร.สนิท ได้แสดงความเห็นว่า หากเถาวัลย์ที่ปกคลุมแบบนี้  เอาลงมาได้จะเป็นสิ่งที่ดี  แต่หัวหน้าอุทยานจะยอมหรือไม่ ต้องไปเจรจากันด้วยเหตุและผล

น.ส.สุมลเผยต่อว่า จากคำตอบดังกล่าวน่าจะชัดเจนในการแสดงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่วงการนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้การยอมรับ อีกทั้งป่าแห่งนี้เป็นป่ารุ่นที่ 2 เพราะมีการสัมปทานไปแล้ว ดังนั้น จะเอาหลักวิชาการของป่ารุ่นแรกมาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้  เพราะต้นไม้ ยืนต้นของป่ารุ่นแรกมีความมั่นคงในตัวของมัน อาจจะสามารถจัดการกับตัวมันเองตามธรรมชาติได้  แต่ป่ารุ่น 2 ที่ผ่านการตัดไม้ยืนต้นไปแล้ว ซึ่งไม้ยืนต้นที่มีการปลูกขึ้นมาใหม่  หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จะต้องมีการ ช่วยเหลือเพราะยังไม่มีความแข็งแรง  หากปล่อยเอาไว้ กว่าจะจัดการตัวเองได้มันก็จะสายเกินไป อย่างไรก็ตามตนรู้สึกมีความหวังมากขึ้นเมื่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชออกมาขานรับที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ด้านนายสุรพล นาคนคร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย ราชภัฏเพชรบุรี และเป็นนักจัดรายการ "คุยเฟื่องเรื่องเมืองเพชร" ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.เพชรบุรี เอฟเอ็ม 95.75 เมกะเฮิรตซ์ เผยว่า หลังจากไทยรัฐนำเสนอ ข่าวนี้ออกมา ปรากฏว่าขณะนี้มีโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นกับปัญหาของผืนป่าอุทยานดังกล่าวทั้งชั่วโมง โดยชาวเมืองเพชรเห็นด้วยกับการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบลงมาแก้ไข อย่ามัวแต่อ้างหลักวิชาการ  เพราะในสภาพความเป็นจริง  แม้ต้นไม้ในบ้านของชาวบ้านเองที่มีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุมยังทำให้ต้นไม้มีปัญหา  โดยมีคุณยายท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า แม้ตนเป็นชาวบ้าน  เรียนจบแค่ ป.4 ยังรู้เลยว่าต้องตัดเถาวัลย์ที่ขึ้นปกคลุมต้นไม้ รวมทั้งนายอนุสรณ์ ปานะศุทธะ ผอ.สวท.เพชรบุรี ที่ฟังรายการอยู่ ยังออกมาบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่  ที่บ้านตนปลูกชมพู่ มะเหมี่ยวไว้  เคยให้ผลดก  แต่พอมีเถาวัลย์ขึ้นปกคลุม  ทำให้ ต้นชมพู่ไม่ออกลูก แถมอยู่ในสภาพเหี่ยวเฉากิ่งก้านหักเพราะถูกเถาวัลย์ดึงอีกต่างหาก  แต่พอตัดเถาวัลย์ออกต้นชมพู่กลับเริ่มคืนสู่สภาพปกติ  โดยเฉพาะผืนป่าแก่งกระจาน ชาวบ้านทราบดีว่ากำลังมีปัญหาเถาวัลย์มากเกินไปจนถึงขั้นคุกคามป่า

อย่างไรก็ตาม นายชาย พานิชพรพันธุ์ ผวจ.เพชรบุรี ได้กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวตนได้รับทราบมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้รับรายงานหรือขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการจากทางอุทยาน  เรื่องนี้เป็นหน้าที่โดยตรงของทางอุทยานที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามต่อไป  ในส่วนของตนพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือหากได้รับการร้องขอมา  กรณีที่เป็นข่าว  เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าจะต้องมีการตัดสางเถาวัลย์ในส่วนที่ไปกระทบกับไม้ ยืนต้น  และพื้นที่ทุ่งหญ้าโล่งที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า หากจะทำกันจริงๆไม่ใช่เรื่องยาก  เพียงระดมกำลังเจ้าหน้าที่ของอุทยานต่างๆจากทั่วประเทศมาตั้งกองบัญชาการกันก็จะสามารถปฏิบัติภารกิจนี้ได้สำเร็จในเวลาไม่นาน แต่ที่เป็นห่วงคืออยากให้ตรวจสอบด้วยว่าพื้นที่ที่ทำสัมปทานไปแล้วมีเนื้อที่เท่าไหร่  เพราะส่วนใหญ่ปัญหาเถาวัลย์ คุกคามจะเกิดขึ้นในผืนป่าที่ทำสัมปทาน.

...