อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ ฯ รับลูก แก้ปัญหา ฝูงเถาวัลย์ และพันธุ์ไม้เลื้อยหลากหลายชนิด เข้าปกคลุมอุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน...

จากกรณีทีมข่าวเฉพาะกิจภูมิภาคไทยรัฐ นำเสนอ ข่าวปัญหาเถาวัลย์จำนวนมาก คุกคามผืนป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ส่งผลให้ไม้ยืนต้นในป่า รวมทั้งทุ่งหญ้าในพื้นที่ราบเกิดปัญหา เนื่องจากป่าแห่งนี้ เป็นป่าที่มีการสัมปทานป่าไม้ไปแล้ว จึงกลายเป็นป่ารุ่น 2 ที่ไม้ยืนต้นยังไม่มีความแข็งแรงพอเช่นป่ารุ่นแรก เมื่อ ถูกฝูงเถาวัลย์และพันธุ์ไม้เลื้อยหลากหลายชนิดเข้าปกคลุม ทำให้เกิดปัญหาไม้ยืนต้นได้รับความเสียหายรวมทั้งสัตว์ ป่าที่ต้องอาศัยทุ่งหญ้าเป็นอาหารพลอยมีปัญหาตามไปด้วย จนนักวิชาการ นักอนุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา เดินหน้าออกมาเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาเป็นการด่วนนั้น

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 2 ก.ย. ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ตรวจสอบอุทยานแก่งกระจานอีกครั้ง พบว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการลงพื้นที่ลาดตะเวน โดยเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนได้ช่วยเหลือต้นไม้ใหญ่ที่มีปัญหาเถาวัลย์ปกคลุมหนาแน่นมากเกินกว่าปกติ ที่อาจจะส่งผลให้ต้นไม้ยืนต้นแห้งตายซากได้ ด้วยการตัดสางเถาวัลย์ออก เพื่อให้ต้นไม้ได้รับแสงแดดและสามารอยู่รอดต่อไปได้ โดยก่อนการตัดสางทีมชุดลาดตระเวนได้มีการปรึกษาและพิจารณากันอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับต้นไม้รอบข้างรวมทั้งระบบนิเวศตามธรรมชาติของป่า โดยส่วนที่ไม่ส่งผลกระทบกับต้นไม้ใหญ่ หรือทุ่งหญ้าที่จะเป็นอาหารของสัตว์ก็ปล่อยไว้ตามธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความสมดุล

ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ออก มาขานรับการแก้ปัญหาเถาวัลย์เลื้อยในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแล้วว่า เรื่องปัญหาเถาวัลย์ในป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานนั้น  ตนยังไม่ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจากทางอุทยาน แต่ก็ได้รับทราบทั้งจากการนำเสนอข่าวของไทยรัฐ และจาก น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ที่ได้ เคยประสานมาเกี่ยวกับโครงการปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้สัตว์ป่า ซึ่งเป็นโครงการปลูกพืช เพื่อเพิ่มแหล่งอาหาร ให้ช้างป่าและสัตว์ป่าอื่นๆ และเป็นการแก้ไขปัญหาไปในตัว และตนขอขอบคุณไทยรัฐที่ให้ความสนใจต่อปัญหานี้

นายจตุพรเผยต่อไปว่า ปัญหาของเถาวัลย์ที่เป็นข่าวนี้ ถือเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ และมีความตั้งใจจะเข้ามาช่วยกันแก้ไข แต่ต้องดำเนินการตามข้อมูลทางวิชาการเพื่อไม่ให้ไปเกิดผลกระทบต่อส่วนอื่นด้วย เพราะ การจะจัดการกับปัญหาต้องมีข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน จึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ในส่วนของตนคิดว่าการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นฐาน เพราะอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญและกำลังเตรียมการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทางธรรมชาติ ดังนั้น การดำเนินการใดๆในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จะต้องมีผลการวิจัยศึกษาอย่างครบถ้วนรอบด้านก่อน เช่น หากปล่อยไว้ตามธรรมชาติจะเกิดปัญหาต่อไปหรือไม่ หรือหากเกิดปัญหาจะใช้วิธีการใดในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเหมาะสม โดยไม่กระทบต่อระบบนิเวศส่วนอื่นๆ

ขณะเดียวกัน นายจตุพรยังเผยด้วยว่า ในส่วนของการดูแลพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขณะนี้ตนได้สั่งการกำชับหัวหน้าอุทยานให้ดูแลใน 3 เรื่อง หลักคือ 1. การป้องกันดูแลพื้นที่อุทยานที่เป็นป่าอนุรักษ์มิให้เกิดการบุกรุกทำลาย 2. การศึกษาวิจัยเก็บข้อมูลนำมารวบรวมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา หรือการดูแลรักษาให้เกิด

ความสมบูรณ์ทางชีวภาพมากยิ่งขึ้น เพราะอุทยานแห่งนี้เป็นพื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก 3.ให้ดูแลเกี่ยวกับการจัดการบริหารการสันทนาการเพี่อให้บริการแก่ประชาชนที่เข้าไปศึกษาหรือพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานให้เกิดประโยชน์ และเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ไม่ทำลายธรรมชาติ

นอกจากนี้ นายจตุพรยังเผยถึงแนวทางการแก้ปัญหาเถาวัลย์ว่า เบื้องต้นตนสั่งการให้สำนักวิจัยส่งทีม สำรวจลงพื้นที่เพื่อศึกษาว่าเถาวัลย์เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อป่าหรือไม่แล้ว เพราะตามธรรมชาติถือว่าเป็น ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศของป่าที่สมบูรณ์ ซึ่งเถาวัลย์มีอยู่ ตามป่าทั่วประเทศ แม้แต่ที่กาญจนบุรีก็มีเถาวัลย์ขึ้นตาม พื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วไป พื้นที่อุทยานต่างๆเช่นทุ่งใหญ่นเรศวรรวมไปถึงที่ห้วยขาแข้งก็มี ดังนั้น เพื่อเป็นการหาข้อมูลที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างรอบคอบเต็มระบบครอบคลุมการแก้ไขปัญหารวมกันทั้งประเทศตนจะใช้ปัญหาที่แก่งกระจานเป็นโมเดลนำร่องในการศึกษาวิจัยควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา โดยสำนักวิจัยจะลงพื้นที่เร็วๆนี้ ส่วนตนเองก็จะเร่งลงพื้นที่เพื่อร่วมแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน.

...