กรรมการสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ ชี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินกระทบสิทธิมนุษยชน แฉ มีเสื้อแดงโดนละเมิดสิทธิเพียบที่ค่ายอดิศร เรียกศอฉ.แจงกรณีค่ายที่กาญจนบุรี 13 ก.ค.นี้...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าใน วันนี้ (7 ก.ค. 2553) ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการหารือเกี่ยวกับกรณีการประกาศคง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่คณะ อนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองเสนอมา โดยนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม. เปิดเผยว่าที่ประชุมมีมีมติออกแถลงการณ์ต่อเรื่องนี้โดยมีเนื้อหาว่า ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบให้บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปใน 19 จังหวัด กสม.เห็นว่าการคง พ.ร.ก.ต่อไปรัฐบาลต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เข้าขั้นฉุกเฉินอย่างเพียงพอ กสม.เข้าใจว่า รัฐบาลต้องการให้ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความปลอดภัย แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวัง ทำด้วยความสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือ เกินกว่ากรณีจำเป็น เพราะ พ.ร.ก.ดังกล่าวเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจมากกว่าปกติ ทั้งนี้ การดำเนินการของรัฐต้องคำนึงถึง 3 มาตรการ
คือ 1.การใช้อำนาจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ต้องมีข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เพียงพอ และสามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ทันทีทุกกรณี 2.รัฐบาลต้องมีกลไกการติดตามและตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ให้อยู่ใน กรอบหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าทีใช้อำนาจไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม เกินกว่าเหตุ ไม่สุจริตหรือเลือกปฏิบัติ รัฐบาลต้องชี้แจงหรือแก้ไขในทันที และ 3.เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินคลี่คลายลง หรือหมดความจำเป็นในการบังคับใช้รัฐบาล ต้องรีบยกเลิก พ.ร.ก.ในทันที โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดตามที่ ครม. มีมติไว้ และ กสม.จะเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รายงานให้ สาธารณชนทราบเป็นระยะ ๆ
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิชุมชน กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือร่วมกับนักวิชาการ นักกฎหมายที่ติดตามเรื่องราวของการชุมนุม ตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ถึงผลของการลงพื้นที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี และ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่มีการควบคุมตัวผู้กระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบว่า ยังมีการปฏิบัติในลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยผู้ถูกควบคุมตัว 28 ราย ไม่มีทนายความคอยให้คำแนะนำในการสู้คดี บางรายไม่รู้ว่าถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร รวมทั้งไม่สามารถติดต่อกับครอบครัวที่อยู่ในต่างจังหวัดได้ และไม่ได้รับการรักษาพยาบาลตามโรคประจำตัวที่เป็น
จึงมีข้อสรุปว่าจะมีการเชิญหน่วยงานรัฐ ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ อัยการ กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของกระทรวงยุติธรรม มาหารือ และ รับทราบว่า แม้อยู่ในช่วงของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐก็ต้องปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกควบคุมตัว โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือกรณีที่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย มายื่นขอให้ตรวจสอบการคุมขังผู้ชุมนุมที่ค่ายทหารใน จ.กาญจนบุรี โดยที่ประชุมอนุกรรมการฯ มีมติให้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องคือญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบ และตัวแทนของ ศอฉ.มาชี้แจงในช่วงบ่ายของวันที่ 13 ก.ค. เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบต่อไป
...