ตัวแทน สตง.แจง กมธ.สภาฯ ระบุ สตง.ตรวจสอบจัดซื้อเครื่องจีที 200 แล้ว พบพิรุธตั้งราคาแตกต่างกัน มีเพียงบริษัทเดียวที่เป็นผู้เสนอราคา และชนะประมูลโดยวิธีพิเศษ ตั้งแต่ปี 48 ด้าน ครม.ตั้งกก.ศึกษาข้อกฎหมาย..

ที่รัฐสภา  เมื่อวันที่ 23 ก.พ.  มีการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายเจะอามิง โตะตาหยง ประธานคณะกรรมาธิการ และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 เป็นประธานในที่ประชุม โดยการประชุมครั้งนี้กรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาให้ข้อมูล แต่ฝ่าย สตง.ได้มอบหมายให้นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและคณะมาชี้แจงว่า ขณะนี้ สตง.ได้เข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจีที 200 แล้ว และได้ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่ามีการตั้งราคาที่แตกต่างกันจริง มีเพียงแค่บริษัทเดียวที่เป็นผู้เสนอราคา และชนะการประมูลโดยวิธีพิเศษ ตั้งแต่ปี 2548 โดย สตง.จะเข้าไปดูในรายละเอียดว่าการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละครั้งมีการฮั้วกันหรือไม่ แม้กระทั่งต้องตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อด้วย

ด้าน นายเจะอามิง กล่าวว่า กรรมาธิการได้ขอเอกสารการจัดซื้อจัดจ้างจากกองทัพ แต่ทางกองทัพแจ้งว่าเป็นความลับที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นในสัปดาห์หน้ากรรมาธิการฯ จะเชิญบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้มาให้ข้อมูล แม้กองทัพจะไม่ให้เอกสารการจัดซื้อจัดจ้างต่อกรรมาธิการฯ แต่กรรมาธิการฯ และ สตง.ก็ยังสามารถหาได้จากส่วนอื่น เรื่องนี้ได้เชื่อมโยงไปถึงการจัดซื้อเครื่องตรวจหาสารเสพติดอัลฟ่า 6 ด้วยที่ สตง.ได้เข้าไปตรวจสอบระยะหนึ่งแล้ว และพบว่ามีความผิดปกติในเรื่องราคาเช่นเดียวกัน แต่มีหลายบริษัทเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

นายเจะอามิง กล่าวด้วยว่า  สตง.ระบุว่าจะสามารถสรุปความผิดปกติของการจัดซื้อเครื่องอัลฟ่า 6 ส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ก่อนเครื่องจีที 200 สำหรับเรื่องนี้ ส่วนตัวถือว่าได้จบภารกิจจากการเป็นคณะกรรมการตรวจสอบประสิทธิภาพของจีที 200 แล้ว ส่วนที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดเดิมมาตรวจสอบอัลฟ่า 6 อีกนั้น คณะกรรมาธิการฯ มีมติไม่อนุญาตให้ตนไปร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบ เพราะไม่อยากให้ใช้คณะกรรมการชุดเดียวกับจีที 200 เนื่องจากสังคมอาจเกิดข้อคลางแคลงใจได้

วันเดียวกัน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาข้อกฎหมายตรวจสอบสัญญาเครื่องจีที 200 ว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทจัดจำหน่ายเครื่องจีที 200 เนื่องจากมีความเสียหายเกิดขึ้น  หลังจากนี้ตนจะเตรียมคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงบประมาณ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการตรวจสอบ 1. จะต้องดูว่าการจัดซื้อเครื่องเกิดขึ้นกี่ครั้ง  แต่ละครั้งมีหน่วยงานใดจัดซื้อจัดจ้างและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร 2. หลังจากจัดซื้อจัดจ้างมาแล้วผลจากการตรวจสอบของกระทรวงวิทยาศาตร์ฯ กับผลที่เกิดขึ้นจากการใช้จริงมีความเสียหายใดเกิดขึ้นหรือไม่ 3. สุดท้ายจะนำข้อกฎหมายมาดูว่าตามสัญญากับผลที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเปรียบเทียบกันถึงขั้นที่จะดำเนินการทางกฎหมายต่อบริษัทได้หรือไม่ คาดว่าผลสรุปจะออกมาภายใน 2 สัปดาห์

นายสาทิตย์ กล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายสำคัญอยู่ที่ตัวสัญญาว่าสัญญาของบริษัทผู้จัดจำหน่ายเป็นสัญญาที่เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่าเมื่อนำสินค้าไปใช้แล้วไม่ได้คุณภาพอย่างที่มีการตกลงกันในสัญญาหรือไม่ ถ้าไม่ได้คุณภาพแล้วเกิดความเสียหายอย่างไร และหากเกิดความเสียหายจะดำเนินการทางกฎหมายได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยืนยันว่าจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะทางกองทัพได้มีการจัดซื้อกันหลายครั้งเหมือนกัน แต่รัฐบาลไม่ได้ไล่ไปถึงว่าทำสัญญาถูกผิดอย่างไร แต่ประเด็นจะมุ่งไปที่บริษัทที่ขายสินค้าตัวนี้ให้กับรัฐบาล

ส่วนการทุจริตเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีดูแลอยู่แล้ว โดยจะต้องดูว่าส่วนไหนที่ทำสัญญากับรัฐ และ ครม.เพิ่งมอบอำนาจ หลังจากที่ได้ความเห็นทางกฎหมายก็จะเสนอ ครม.แต่ไม่จำเป็นต้องเชิญบริษัทมา เพราะจะพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายทางฝั่งรัฐบาลว่าจะดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่ก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อ รัฐบาลไม่ได้ไปสอบทางบริษัท งานนี้รัฐบาลไม่ได้ไม่ได้ชนกับใคร แต่เป็นเพียงการให้ความเห็นในประเด็นทางกฎหมาย ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีปัญหากับกองทัพ แต่จะต้องทำความจริงให้กระจ่าง.

...