ทองใบ ทองเปาด์ ทนายแมกไซไซ ยืนยัน คำตัดสินของศาลโลก ไม่มีผลบังคับใด ๆ กับไทย ชี้ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไปร้องคดียึดทรัพย์จะเสียมากกว่าได้ การันตี นานาชาติยอมรับศาลไทย...

วันที่ 22 ก.พ. นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายแมกไซไซ ให้สัมภาษณ์ ไทยรัฐออนไลน์ ยืนยัน คำตัดสินของศาลโลก ทั้งที่ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ ศาลอาญาโลกที่ กรุงโรม ประเทศอิตาลี จะไม่มีผลบังคับใด ๆ ในทางกฎหมายต่อประเทศไทย เพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลโลก จึงไม่ได้มีการให้สัตยาบันรองรับคำตัดสินของศาลโลก อีกทั้ง ในกรณีของบุคคลธรรมดาที่จะไปร้องต่อศาลโลกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการไปร้องขอความเป็นธรรมในกรณีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่า ส่วนกรณีเรื่องธรรมดา เช่น ผู้ที่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง แล้วจะไปร้องขอความเป็นธรรมนั้น ตนเองยังไม่เคยเห็น แต่อย่างใด

ส่วนที่มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ​ ชินวัตร อาจจะร้องขอต่อศาลโลก หากไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งกรณีคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท หรือเรื่องการถูกทำปฏิวัติยึดอำนาจ นั้น หากเป็นในประเด็นแรกตนเองเห็นว่า หากเป็นจริงก็น่าจะเป็นผลเสียมากกว่าได้  เพราะคดียึดทรัพย์ นั้น เป็นการดำเนินคดีตามกฎหมาย และจำเลยก็มีโอกาสต่อสู้คดี เพื่อคัดค้านข้อกล่าวหาได้เต็มที่ในทุกเรื่องที่ถูกกล่าวหาอยู่แล้ว อีกทั้งการที่จำเลยขอต่อสู้คดี ย่อมเท่ากับเป็นการยอมรับในอธิปไตย ของศาลแล้ว เพราะฉะนั้นหากแพ้คดีในศาลก็ต้องยอมรับ ซึ่งหากจะไปร้องต่อศาลโลกในกรณีดังกล่าว อีก ก็คงจะเป็นเรื่องลำบาก และเชื่อว่าอย่างไรศาลโลกก็คงไม่ยอมรับเพราะต้องไม่ลืมว่า ศาลไทย กฎหมายไทย และอธิปไตยของชาติไทย นั้น ได้รับความเชื่อถือในระดับนานาชาติเป็นอย่างสูง

ส่วนหากจะไปร้องขอความเป็นธรรมในประเด็นเรื่องถูกปฎิวัติยึดอำนาจ นั้น คิดว่า เหตุผลให้การจะไปร้องขอ น่าจะอ่อนและไม่มีพื้นฐานที่จะไปร้องได้  เพราะเหตุการณ์ยึดอำนาจได้ผ่านไปแล้วหลายปี การจะรื้อฟื้นเรื่องดังกล่าวไปร้องในตอนนี้ ดูแล้วน่าจะเป็นการช้าเกินไป เพราะหากจะร้องจริงก็ควรจะไปร้องตั้งแต่ที่ถูกยึดอำนาจตั้งแต่แรก อีกทั้งโดยส่วนตัวก็ไม่เคยเห็นว่ามีผู้นำประเทศคนใด ที่ถูกปฎิวัติโค่นอำนาจแล้วไปร้องขอความเป็นธรรมต่อศาลโลก          

นอกจากนี้ หลังการปฏิวัติ ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งผ่านการทำประชามติของประชาชนมาใช้อย่างถูกต้อง อีกทั้ง พรรคการเมืองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้การสนับสนุน ก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ตั้งรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายมาแล้วถึง 2 รัฐบาล เพราะฉะนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จู่ ๆ จะยกเหตุผลเรื่องดังกล่าวขึ้นมาร้องได้ในเวลานี้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ในเรื่องกติการะหว่างประเทศ เรื่องสิทธิมนุษยชน นั้น มีกติการะหว่างประเทศ ในสมาชิกองค์การสหประชาชาติอยู่ว่า จะไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันในหมู่ประเทศสมาชิก

...