คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช

"กัลยา" เผยทดสอบอัลฟ่า 6 ใช้วิธีเดียวกับจีที 200 ปูดคนทำสัญญาซื้อ ยอมรับสัญญาที่จะไม่ผ่าเครื่องพิสูจน์ แย้มกองทัพตัวเริ่มสัญญาอัปยศ..

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่รัฐสภา คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการตรวจสอบเครื่องตรวจหาสารเสพติด อัลฟ่า 6 ว่า จะใช้วิธีการเดียวกับการตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 เพราะเป็นวิธีการตรวจสอบที่หลายฝ่ายเห็นด้วย ตรงตามหลักสากล หลักวิทยาศาตร์ และหลักสถิติ แต่ต้องขอเวลาเตรียมการ ยืนยันขั้นตอนและข้อมูลเชิงสถิติทดสอบ ส่วนจำนวนครั้งที่จะใช้ในการทดสอบจะเหมือนกับจีที 200 หรือไม่นั้น คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การทดสอบ 2 วัน หรือ 20 ครั้ง เป็นสถิติที่ยอมรับ ทุกหน่วยที่ร่วมประชุมเห็นด้วยและก็พอใจ ถ้ากระทรวงมหาดไทยและยุติธรรม จะทำให้ทำมากกว่านั้น ก็ไม่มีปัญหา แต่ในแง่สถิติแล้ว คิดว่าเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือได้

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มั่นใจผลสรุปที่ออกมาจะเพียงพอต่อการยืนยันว่าเครื่องจีที 200 ไร้ประสิทธิภาพ รมว.วิทย์ฯ กล่าวว่า คิดว่าเพียงพอ เมื่อถามต่อว่า บางหน่วยงานต้องการให้มีการผ่าพิสูจน์เครื่องหรือเอกซ์เรย์ คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคนที่ซื้อมีสัญญากับบริษัทที่จะไม่ให้มีการผ่าพิสูจน์เครื่อง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นหน่วยงานใด เมื่อถามย้ำว่า สัญญาในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายได้ว่ารัฐบาลอยู่ในภาวะที่เสียเปรียบ เพราะไม่สามารถพิสูจน์เครื่องได้ คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า คงให้ความเห็นไม่ได้ เพราะตอนที่ซื้อและตอนที่ทดลองสเปกเป็นอย่างไรไม่ทราบ สัญญาที่จะไม่ให้เปิดเครื่องเพื่อพิสูจน์ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่ามีกี่สัญญา แต่ตอนทดสอบก็คิดเพียงว่าเราน่าจะทำอะไรกับเครื่องนี้ เช่น การเอ็กซ์เรย์ ดังนั้น หากจะผ่าเพียงเครื่องเดียวก็ถือว่าเราผิดสัญญา เพราะเจ้าของเครื่องบอกเพียงว่าหากเครื่องเขาเสียหาย หรือไปทำอะไรกับเครื่องก็จะผิดสัญญาเหมือนกัน

เมื่อถามว่า ตัวสัญญาเริ่มต้นเป็นของกองทัพใช่หรือไม่ ที่เป็นข้อผูกมัดจนไม่สามารถผ่าเครื่องได้ คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่เราได้รับทราบ ส่วนการที่มีบางฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตการทดสอบที่ผ่านมายังไม่โปร่งใส มีข้อบกพร่อง และบางส่วนไม่ยอมรับในการตัดสิน คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า คณะกรรมการตรวจสอบทำอย่างรอบคอบ และทุกๆ ฝ่ายตกลงเห็นชอบที่ให้ทำวิธีการเช่นนี้ ส่วนการลงไปทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น น่าจะได้คำตอบในวันที่ 23 ก.พ.นี้ และจะเชิญชวนคณะกรรมการลงไปด้วย และคงมีเอกสารประกอบเพื่อให้สบายใจ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะพยายามที่จะหาเครื่อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานในพื้นที่ทำงานได้อย่างปลอดภัย.

...