“สุเทพ”เรียกประชุมหน่วยความมั่นคงจัดตั้งคตม.เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่าง ใกล้ชิดป้องกันพวกป่วนเมือง ระดม ตำรวจ-ทหารตั้งจุดตรวจทั่วพื้นที่ กทม.เผยเป้าหมายหลัก 5 จุด “บ้านสี่เสาฯ-ทำเนียบ”จุดล่อแหลม....

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น.ที่กองบัญชาการกองทัพบก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผบ.ทบ. พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบก และ พล.ต.อุดมเดช สีตะบุตร รองแม่ทัพภาคที่ 1 นอกจากนี้ ยังมี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริญ รักษาราชการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ไถงปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 นายถวิล เปลี่ยนสี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง

พล.ต.ดิฎฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า การประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ และระดมความคิดเห็นเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ ซึ่งจากการข่าวของหน่วยงานทางด้านความมั่นคงได้รายงานตรงกันว่า ในช่วงเวลานี้จะมีการก่อกวนสร้างสถานการณ์ในสถานที่สำคัญๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลาย และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข ดังนั้นตั้งแต่เวลา 19.00 น.ของวันที่ 15 ก.พ.นี้เป็นต้นไป ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน จะมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มีการตั้งจุดตรวจ จุดเฝ้าระวัง และลาดตระเวนในเขตพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพ

พล.ต.ดิฏฐพร กล่าวว่า กำลังเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยรักษากฎหมายตามการใช้กฎหมายปกติ โดยใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งจุดตรวจ สน.ละ 2 จุด แบ่งเป็นส่วนของจราจร และกองปราบ ซึ่งแต่ละส่วนดูแลในพื้นที่ของตนเอง ส่วนจังหวัดต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการชุมนุมหรือก่อเหตุได้ให้แต่ละจังหวัดเตรียมจัดทำแผน รองรับไว้ หากรัฐบาลกำหนดไปว่าประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคง หรือใช้แผนอย่างไร ให้เรียกใช้หน่วยกำลังในพื้นที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ได้

“ที่ประชุม ยังมีความเห็นในการขอใช้อำนาจการบริหาราชกรแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีในการแต่ง ตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง (คตม.) โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงเป็นประธาน ส่วนในเรื่องคณะกรรมการเป็นเรื่องของทางสภาความมั่นคงแห่งชาติจะดำเนินการ และจะเรียนให้นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการในวันที่ 16 ก.พ.นี้ เพื่อประสานการปฏิบัติทุกส่วนงานให้มีความสอดคล้องและเท่าทันต่อสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น” โฆษก กอ.รมน. กล่าว

พล.ต.ดิฏฐพร กล่าวว่า คตม. มีหน้าที่ติดตามแผนการการปฏิบัติงานที่ได้แบ่งมอบให้กับหน่วยงานต่างๆจำนวน 8 แผน ที่เกี่ยวกับการมอบหมายให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงทำความเข้าใจกับ ประชาชนทุกภาคส่วน เน้นให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีความพยายามที่จะประคับประคองบ้านเมือง และให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตตามปกติ เช่น การดูแลไม่ให้เกิดการปลุกระดมในสถานศึกษาส่วนหน้าที่ คตม.จะสิ้นสุดเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะเลยช่วงเดือนก.พ.ไปสักระยะหนึ่ง เพื่อติดตามเหตุการณ์ให้มีความชัดเจนและเรียบร้อย จากนั้นจึงจะยกเลิกไป ส่วนเหตุระเบิดต้องรอผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้ เกิดเหตุขึ้นอีก

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และมีความจำเป็นที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)จะต้องประกาศกฎหมายพิเศษ คตม.จะแปรนสภาพเป็น ศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) จุดประสงค์หลักของการตั้ง คตม.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง แต่เป็นเรื่องของการรักษาเอกภาพของหน่วยงานหลักแต่ละหน่วย ซึ่งมีหน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยงาน และมีคณะที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายทั้ง สมช. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตำรวจ ดังนั้น จึงอยากให้มีคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนต่างๆเพื่อประสานการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นมูลเหตุมาจากเหตุการณ์ที่มีผู้ลอบวางระเบิดที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลพาณิชย์พระนคร และที่ศาลฎีกา เพราะมีข้อมูลข่าวสารว่าจะมีการก่อกวนและมีการสร้างสถานการณ์ในสถานที่สำคัญ ต่างๆ

“หน่วยงานด้านความมั่นคงประเมินว่า สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องประกาศใช้กฎหมายพิเศษหรือ ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ส่วนการตั้งจุดตรวจของทหารในขั้นต้นจะมีแต่ในพื้นที่กรุงเทพชั้นใน 5-8 จุด ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร และทหารจากหน่วยต่างๆจากกองทัพภาคที่ 1 จำนวน 200 นาย เช่น บ้านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หน้าวัดเบญจมบพิตร สวนจิตรลดา ศาลฎีกา กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งการเตรียมรับมือในสถานการณ์ขณะนี้เอาความรู้สึกของประชาชนเป็นที่ตั้ง เตรียมการทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความวิตกต่อข้อมูลข่าวสาร ที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ทั้งหลายมีการจัดเตรียมกำลังเพื่อตั้งจุดตรวจไม่ได้ หมายความว่า ป้องกันไม่ให้มีการชุมนุม แต่เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีฉกฉวยโอกาสสร้างความวุ่นวาย แต่การชุมนุมยังสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกติกา”พ.อ.สรรเสริญ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ในระหว่างการประชุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รายงานว่า กองพิสูจน์หลักฐาน ได้ทำการเข้าพิสูจน์หลักฐานและ เก็บวัตถุพยานในที่เกิดเหตุบริเวณด้านนอกรั้วฝั่ง พาณิชย์พระนครฯ ซึ่งเป็นเศษวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของเอ็ม 79 มากกว่า 10 ชิ้น โดยมีการวิเคราะห์การตกกระทบกับกิ่งไม้ก่อนลงมาที่ รถยนต์ 3 คัน พบว่า วิถีการยิงน่าจะมาจากบริเวณสนามม้านางเลิ้ง โดยมีเป้าหมายยิงเข้ามาที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ยิงไม่ถึงเป้าหมาย ส่วนระเบิดซีโฟร์ที่พบบริเวณข้างศาลฎีกานั้น ไม่สามารถระบุได้ว่า มีเป้าหมายสร้างความเสียหาย หรือ ก่อกวนเพราะ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าตรวจพิสูจน์พบว่ามีส่วนประกอบของวัตถุระเบิดจริง จึงได้ใช้ปืนทำลายวัตถุระเบิดยิงทันที ทำให้ไม่ทราบว่ามีการต่อวงจรครบและพร้อมในการจุดระเบิดหรือไม่ แต่หลังทำลายเสร็จพบส่วนประกอบของระเบิดซีโฟร์ และนาฬิกาอยู่ในที่เกิดเหตุ

...