"จาตุรนต์" ซัด ป.ป.ช.ใช้อำนาจหน้าที่หาทางลงม็อบ "สุเทพ" เอาผิดนายกฯ ทุจริตจำนำข้าวแบบรวบรัด ยก 5 กรณีตีองค์กรอิสระไม่เป็นธรรม ขวางเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลแม้ได้รับชัยชนะ
วันที่ 30 มี.ค.57 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในคดีข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า การตัดสินของ ป.ป.ช.จะยิ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะลงเลือกตั้งในครั้งนี้หรือครั้งหน้าก็ตาม
ทั้งนี้ เพราะประชาชนจะรู้สึกว่า ป.ป.ช.ได้เลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน กรณีโครงการจำนำข้าวยังไม่มีการพิสูจน์ให้ถึงที่สุดว่าในระดับผู้ปฏิบัติหรือผู้รับผิดชอบโดยตรงใครทำผิดหรือทุจริตอย่างไร แต่กลับจะเอาผิดกับนายกฯ ในข้อหาปล่อยปละละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การตั้งข้อกล่าวหาก็มาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย จู่ๆ ก็เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและรวบรัดอย่างมาก ต่างจากกรณีการขายข้าวของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หรือกรณีการสั่งฆ่าประชาชน เมื่อเดือน เม.ย.- พ.ค. 53 ซึ่ง ป.ป.ช.กลับทำงานอย่างล่าช้ามาก ป่านนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน
...
“การดำเนินการของ ป.ป.ช.จึงเข้าลักษณะใช้อำนาจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมาแก้ปัญหาการเมือง คือเพื่อหาทางลงให้สุเทพกับพวกเสียมากกว่า” นายจาตุรนต์ กล่าว
ทั้งนี้ มาถึงวันนี้จึงมีกรณี 5 กรณีทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น ที่องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดการกับการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม ได้แก่ 1. การวินิจฉัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญของสมาชิกรัฐสภาเป็นการขัดมาตรา 68 ที่นำไปสู่การถอดถอนและดำเนินคดีอาญาต่อสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ รวมทั้งประธานวุฒิสภาและอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่ให้การคุ้มครองการเคลื่อนไหวของ กปปส. ด้วยการวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
2. การคว่ำร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มีผลเป็นการล้มโครงการรถไฟความเร็วสูงและการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้เกิดขึ้น
3. การขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส. การไม่ตั้งใจจัดการเลือกตั้งของ กกต. และการวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งมีผลเท่ากับจะไม่มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันได้อีกแล้ว
4. การที่ ป.ป.ช.เลือกปฏิบัติต่อนายกฯ แตกต่างจากที่ปฏิบัติต่อรัฐบาล ปชป.อย่างชัดเจน นำไปสู่การชี้มูลนายกฯ การถอดถอนและการดำเนินคดีอาญานายกฯ อย่างรวบรัดผิดปกติ
5.การทำให้ ครม.รักษาการต้องพ้นไป และการตั้งนายกฯ และรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแทนที่โดยไม่ผ่านการเลือกตั้งซึ่งเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ไม่ต่างจากการฉีกรัฐธรรมนูญหรือรัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า เห็นว่า ทั้ง 5 กรณีนี้จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ และจะทำให้เกิดสภาพที่ยิ่งชนชั้นนำและอำมาตย์จัดการด้วยความไม่เป็นธรรมมากเท่าใด ประชาชนก็จะยิ่งปฏิเสธมากเท่านั้น จนกระทั่งประชาชนจะไม่ยอมให้พรรคการเมืองที่ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจสนับสนุนได้เป็นรัฐบาลดังที่ตั้งใจ ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการฉีกรัฐธรรมนูญก็ตาม
“เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะกลายเป็นความจำเป็นที่ชนชั้นนำและอำมาตย์จะต้องสร้างระบบที่ยิ่งเป็นเผด็จการยิ่งกว่าที่เคยวางแผนไว้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก ถึงแม้จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งก็ตาม ระบบที่เป็นเผด็จการเช่นนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับและจะทำให้สังคมไทยก้าวไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงไม่สิ้นสุด” นายจาตุรนต์ กล่าว