ปริศนาการล่องหนของเครื่องบิน โบอิ้ง 777 - 200ER เที่ยวบิน MH 370 สายการบินมาเลเซีย แอร์ไลน์ส ที่หายไปจากจอเรดาร์อย่างไร้ร่องรอย นับตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2557 ขณะบินออกจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อมุ่งหน้าไปลงที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมผู้โดยสารและลูกเรือรวม 239 คน ถือเป็นข่าวสะเทือนขวัญให้กับคนทั่วทั้งโลกที่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่า เกิดจากสาเหตุใด เพราะนานาประเทศต่างขนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ กองทัพ เข้าไปช่วยเพื่อไขปริศนาดังกล่าว และก็มีข่าวดีเมื่อ "เรดาร์" กองทัพอากาศไทย สามารถจับภาพสัญญาณได้ในคืนวันนั้น (02.00 น.) จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถประมวลภาพได้ เพื่อต่อจิ๊กซอว์นำไปสู่การสันนิษฐานอะไรได้หลายอย่างว่า เครื่องบินลำนี้น่าเกิดอะไรขึ้น...

ชะตากรรมชีวิตของลูกเรือพร้อมผู้โดยสาร 239 ชีวิต ในเที่ยวบิน MH 370 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถที่จะรับทราบ และติดต่อใครบนเที่ยวบินนี้แม้แต่คนเดียว และเป็นเวลา 10 กว่าวันแล้ว แม้นานาชาติจะระดมเครื่องมือ อุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีเข้าช่วยค้นหาแบบปูพรม แต่ก็ไร้วี่แวว จนล่าสุดทางการมาเลเซีย ต้องออกมาขอบคุณนานาชาติ พร้อมขอให้ยุติการค้นหาก่อน พร้อมมีการตั้งสมมติฐานหลายสาเหตุด้วยกัน

แต่ประเด็นที่มาเลเซียยอมออกมาพูด คือ การพุ่งเป้าไปที่การสอบสวนตัวนักบิน และผู้ช่วยนักบิน ที่อาจเกี่ยวข้อง นำไปสู่เหตุจูงใจทำให้เครื่องบินดังกล่าวสูญหาย อาจมองได้ทั้งในเรื่องศาสนา การเมือง หรือกระทั่งเรื่องส่วนตัว ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มาเลย์จะต้องทำความกระจ่าง และให้ข้อมูลต่อนานาชาติให้ได้มากที่สุด

'เรดาร์' ไทย ไขปริศนา เที่ยวบิน MH 370 ล่องหน

...



ล่าสุด "ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสได้คุยกับ "ครูการบิน" นักบินไฟต์เตอร์ F-16 มือ 1 ของกองทัพอากาศไทย ที่ผ่านชั่วโมงการบินเครื่องบินรบมาอย่างโชกโชนกว่า 3 หมื่นชั่วโมงการบิน ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับหลายประเด็นในข้อสงสัย โดยเฉพาะ "เรดาร์" ในส่วน กองทัพอากาศไทย (ทอ.) ที่สามารถจับภาพและนำไปสู่การชี้เบาะแส หรือนำไปเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในการคลี่ปมปัญหาดังกล่าว

จับสัญญาณได้ชัดเจน

เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้มีเงื่อนงำ และนำไปสู่ความน่าสงสัยในหลายประการ กองทัพอากาศ โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้รับการประสานมาขอให้ช่วยเหลือในเรื่องข้อมูล โดยเฉพาะภาพของเครื่องบิน โบอิ้ง 200-777 เที่ยวบิน MH 370 ที่ "เรดาร์" ของ ทอ.ไทยสามารถจับสัญญาณเครื่องบินลำนี้ได้ ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ในคืนวันที่ 8 มี.ค. แต่เนื่องจากเครื่องบินลำดังกล่าว ไม่ได้มีไฟลท์แพลนมายังประเทศไทย แต่มีไฟลท์แพลนกับทางเวียดนาม จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางไทย เพียงแต่เรามีเจ้าหน้าที่มอนิเตอร์โดยตลอด และเครื่องบินลำนี้ก็ไม่ได้บินผ่านน่านฟ้าประเทศไทยเรา เพียงแต่เรดาร์เราสามารถจับสัญญาณได้ ในพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย ช่วงบัตเตอร์เวอร์ธ ซึ่งเป็นจังหวัดทางเหนือของมาเลเซียที่อยู่ใกล้พรมแดนทางใต้ของไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้สงสัยอะไรมากจนนำไปสู่ปริศนาต่อมา

"มาเลย์" วอนให้ ทอ.ไทยช่วยดู "เรดาร์" ย้อนหลัง

'เรดาร์' ไทย ไขปริศนา เที่ยวบิน MH 370 ล่องหน


กระทั่งเกิดเหตุการณ์ขึ้น และทางกองทัพอากาศมาเลเซีย ได้ขอร้องให้เราช่วยเปิดภาพเรดาร์ย้อนหลัง เพื่อกลับไปดู จึงพบว่าเครื่องบิน MH 370 ลำนี้มีเงื่อนงำ น่าสงสัย โดยเมื่อเรดาร์เราจับสัญญาณภาพได้ แต่มีการบินย้อนกลับไปทางเดิม ทางเจ้าหน้าที่เราจึงเดาไม่ออก แต่ประหลาดใจว่าทำไมเครื่องบินดังกล่าวจึงต้องบินย้อนกลับไปในทิศทางเดิมเท่านั้น และบินต่อไปอีก จากนั้นสัญญาณก็หายไปจากจอเรดาร์ของกองทัพอากาศไทย

สิ่งบอกเหตุที่เกิดขึ้นคือ เครื่องบินเที่ยวบินนี้ตั้งใจไม่ให้เราเห็น หรือจับสัญญาณ และมีความตั้งใจเปิดสัญญาณเป็นช่วงๆ และปิดสัญญาณ จึงสันนิษฐานว่าเพื่อไม่ให้ทางภาคพื้น หรือหอบังคับการบิน มีการติดต่อหรือจับสัญญาณได้ ซึ่งในเวลานั้นเกิดเหตุตอนตีสอง จึงไม่เอะใจ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วย

เส้นทางการบิน ย้อนกลับลงทางใต้ มาเลเซีย รู้ดีที่สุด

จึงเชื่อว่าประเด็นที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ทางประเทศมาเลเซียนั้นรู้ดีที่สุดว่าเครื่่องบินของเขาโดนอะไร แต่การที่ไม่พูดหมด ไม่พูดประเด็นในข้อมูลที่รู้ จึงทำให้นานาชาติต้องเหนื่อย และเสียน้ำมันในการระดมค้นหาไปจำนวนมาก เดากันไป แต่เมื่อเราดูจากจอเรดาร์ จึงทราบ แต่ที่น่าสงสัยมากที่สุด การบินย้อนกลับไป แล้วไปไหน จึงเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้มีเงื่อนงำ แต่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบเรา จึงเชื่อว่าทางกองทัพมาเลเซียรู้ดีที่สุดว่าโดนกระทำ แต่ไม่กล้าที่จะพูด จนเมื่อนานาชาติมารู้ข้อมูลหลายอย่าง และข้อมูลจาก ทอ.ไทย จึงสามารถประมวล ปะติดปะต่อภาพจำลอง และสันนิษฐานภาพออกมาว่า เครื่องบินลำนี้น่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยตุ๊กตาที่ตั้งว่า 1. เหตุระเบิดกลางทะเลนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะหากเกิดเรื่องนี้ขึ้น เรดาร์หอบังคับการการบินจะต้องจับสัญญาณได้ตลอด 2. ลงจอดสนามบินใด แล้วสังหารลูกเรือ ผู้โดยสาร ก็ไม่รู้จะเอาศพจำนวนหลายร้อยคนไปทิ้งไว้ที่ไหน 3. หากเป็นการลงฉุกเฉิน ก็จะต้องรู้เพราะเครื่องบินลำใหญ่ และสนามบินรันเวย์ที่รองรับจะต้องยาว และจะปิดข้อมูลข่าวสารไม่ได้ หรือหากมีสลัดอากาศจี้เครื่องบิน ก็เชื่อว่านักบินคงขัดขืน แต่ประเด็นสุดท้ายที่น่าจะเป็นไปได้ คือ "นักบิน" และ "ผู้ช่วยนักบิน" ต้องมีส่วนร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ เพราะพยายามหลีกเลี่ยงการติดต่อกับภาคพื้น

'เรดาร์' ไทย ไขปริศนา เที่ยวบิน MH 370 ล่องหน


เชื่อว่าประเด็น "ไฮแจ๊ค" น่าสงสัยที่สุด

เมื่อมีการบินย้อนกลับไป โดยไม่มีการแจ้งหอบังคับการบิน และพยายามปิดเครื่องมือสื่อสาร จึงน่าสงสัยมากที่สุดว่า ประเด็นนี้ตัวนักบินทั้งสองคนน่าสงสัย ที่จะทำการก่อการเอง เพราะการหายไปจากจอเรดาร์ โดยใช้เพดานการบินต่ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ และการปิดวิทยุสื่อสาร จึงมีพฤติกรรมส่อไปในทางที่เข้าข่ายการ "ไฮแจ๊ค" มากที่สุด และเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และชี้ประเด็นไปในทางเดียวกันมากที่สุด โดยเฉพาะการบินข้ามหัวประเทศไทย และเรดาร์เราสามารถจับภาพได้ถึง 3 ตัว จนมีการแท็กภาพออกมา แต่ทำไมมาเลเซียจึงไม่พูดความจริง เมื่อปรากฏหลักฐานออกมา มาเลเซียจึงต้องจำยอม และบอกกับนานาชาติ จึงกลายเป็นปริศนา เขย่าขวัญโลกของการบินที่ชวนติดตามแทบไม่กะพริบตา สื่อบางแขนงคิดไปไกลถึงขั้นว่ามีสามเหลี่ยมนรกเกิดใหม่ใกล้ประเทศมาเลเซียเหมือนสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า ที่เครื่องบินผ่านไปเป็นต้องหายไปอย่างลึกลับ

เพราะการระดมกันค้นหาจากนานาชาติกว่า 12 ประเทศ ร่วมถึงกองทัพเรือไทยอย่างเข้มข้นแบบสแกนพื้นที่กว่า 9.3 หมื่นตารางกิโลเมตร ทั่วน่านน้ำทะเลจีนตอนใต้ และอันดามัน แบบเต็มที่แต่ก็ยังไร้ซึ่งปาฏิหาริย์อยู่ดี จนกระทั่งมาเลย์ต้องถูกทุกฝ่ายกดดันอย่างหนักในเรื่องข้อมูล

'เรดาร์' ไทย ไขปริศนา เที่ยวบิน MH 370 ล่องหน


เรดาร์จับสัญญาณ เครื่องบินพาณิชย์ได้ง่าย เครื่องบินรบได้ยาก


ด้วยเครื่องบินที่มีขนาดลำที่ใหญ่ (เครื่องบินโดยสาร) และมีเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น เครื่องบินโดยสารจะหลบไปจากจอเรดาร์ จึงทำได้ยาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการขึ้นบินแต่ละครั้งเครื่องบินประเภทนี้จะต้องทำไฟลท์แพลน และมีรหัส "Squawk Number"แจ้งไปยังทุกประเทศที่จะบินผ่านน่านฟ้าขอบเขตประเทศนั้นๆ จึงจะต้องมีสัญญาณเครือข่ายที่ติดต่อกับหอบังคับการบินตลอดเวลา ดังนั้นเครื่องบินพาณิชย์ที่ลำใหญ่โต หรือแม้กระทั่งเฮลิคอปเตอร์ ทุกรุ่น จึงไม่สามารถที่จะหลบรอดสายตาเรดาร์ไปได้ เพราะเครื่องบินพาณิชย์ ระยะการบินจะต้องสูงเกิน 10 กิโลเมตรจากพื้นดิน จึงทำให้การหลบเรดาร์เป็นไปได้ยากมาก

หากเป็นเครื่องบินรบ จะถูกสอนให้หลบสัญญาณเรดาร์ (สเตลธ์)

และด้วยความที่มีชั่วโมงการบินสูง และมีประสบการณ์เชี่ยวชาญ มีความรู้เครื่องบินในหลายแบบ หลายรุ่น จึงฟันธงได้ทันทีว่า การเป็นนักบินรบที่ดีจะต้องมีระเบียบ วินัย หมั่นฝึก นักบินรบทุกคนเมื่อขึ้นไปทำการบิน สิ่งที่คิดคือ ไม่ให้ข้าศึกเห็นตัว และหลบเรดาร์ให้ได้ แต่เรดาร์สมัยนี้ก็มีเทคโนโลยีสูง สามารถจับภาพการเคลื่อนไหวเครื่องบินได้แทบทุกชนิด แต่ในส่วนของนักบินรบจะคิดเหมือนเกมวอร์ (สงคราม) ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เรดาร์จับภาพได้ ดังนั้นจึงต้องฝึกฝน ประกอบกับเทคโนโลยีของเครื่องบินในรุ่นนั้นๆ ซึ่งในภาวะสงคราม หรือเกิดข้อพิพาทการบินสอดแนม หรือบินทางยุทธวิธี นักบินรบจึงต้องบินให้ได้ต่ำและเร็วที่สุด แบบสเตลธ์ (ล่องหน) ถ้าหากเรดาร์สามารถจับสัญญาณได้ ส่วนใหญ่จะรู้ในระยะใกล้แล้ว นักบินรบก็จะมีชัย และทำให้ข้าศึกเกรงกลัว ดังนั้น เทคโนโลยีสมัยนี้การผลิตเครื่องบินแต่ละค่าย แต่ละประเทศจึงทำให้เครื่องบินทำการบินได้ไวเหนือเสียง และมีเพดานการบินต่ำที่สุดได้ เพื่อหลบจอเรดาร์นั่นเอง

"นักบินรบทุกคน เมื่อขึ้นทำการบิน ไม่ว่าจะบินชนิดใด รุ่นใด ในภาวะการสู้รบ จะต้องหลบหลีกแบบล่องหน หรือ "สเตลธ์" ให้ได้มากที่สุด การบินหลบเรดาห์ เพื่อให้จับภาพให้ได้ยาก หรือจับภาพได้ก็จะต้องใกล้ที่สุด จึงเป็นความท้าทายของนักบินเอง ปรัชญาของนักบินจึงเข้าข่าย เมื่อข้าศึกเห็นในระยะ 50 ไมล์ ก็ถือว่าพลาดแล้ว แต่เรดาร์สมัยนี้ก็มีประสิทธิภาพสูงมากเพื่อต่อกรกับเครื่องบินรบให้ได้ เมื่อเครื่องบินพยายามหลบเรดาร์ ก็มีการสร้างเรดาร์ที่ทรงประสิทธิภาพในการจับภาพได้อย่างแม่นยำ แบบขั้นสูง เพราะเครื่องบินถือเป็นก้อนเหล็ก เมื่อขึ้นไปก็หลบเรดาร์ได้ยากเช่นเดียวกัน"

'เรดาร์' ไทย ไขปริศนา เที่ยวบิน MH 370 ล่องหน


เรียนรู้เรดาร์ของไทย

"เรดาร์" ในปัจจุบันของประเทศไทย มีใช้ในหลายหน่วยงาน ทั้งของวิทยุการบิน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ จะดูในเชิงพาณิชย์ ดูแลสายการบินพาณิชย์ เอกชน และเรดาร์ของทหาร ที่ประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ โดยในส่วนทหารอากาศ ถือว่ามีเทคโนโลยีเรดาร์ที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพมากที่สุด และสามารถสอดส่องมองเห็นคลอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยปัจจุบันจะมีเรดาร์ทั้งหมด 11 ตัว คลอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกตารางนิ้ว และพื้นที่กลางทะเลที่อยู่ในรัศมีของประเทศไทย โดยเรดาร์ในส่วนของกองทัพทหาร จะถือเป็นเรดาร์เพื่อความมั่นคง ใช้ในภารกิจหลักป้องกันอธิปไตย จับสัญญาณ เครื่องบินแปลกปลอม ที่บินล้ำแดนในพื้นที่อาณาเขต น่านฟ้า โดยไม่ได้แจ้ง หรือไม่มีไฟลท์แพลนมา โดยส่วนใหญ่ กองทัพอากาศจะดูแลในงานส่วนนี้

เรดาร์ คือ เครื่องมือที่แสดง ระยะทาง และตำแหน่งของเครื่องบิน โดย เรดาร์จะส่งพลังงานเป็นห้วงสั้น ออกไป เมื่อพลังงานนี้ไปกระทบกับวัตถุ (เครื่องบิน) ก็จะสะท้อนพลังงานนี้ กลับมาที่เสาอากาศของ เรดาร์ จากนั้นก็จะเข้ากระบวนการภายในเครื่องของเรดาร์ แล้วแสดงออกมาเป็นจุดบนจอภาพของ เรดาร์ ระบบของเรดาร์มีอยู่ 2 ชนิด คือ Primary และ Secondary

เรดาร์ Primary จะมีระบบอยู่ที่พื้นดิน โดยมีเสาอากาศที่หมุนได้ เพื่อส่งพลังงานวิทยุออกไปเป็นห้วงสั้นๆ เมื่อพลังวิทยุนี้ไปกระทบกับเครื่องบิน ก็จะส่งสัญญาณนั้นกลับมายังเสาอากาศของเรดาร์ จากนั้นสัญญาณที่รับกลับมานี้ก็จะถูกประมวลผล แล้วจึงแสดงออกมาทางจอภาพเรดาร์ แต่เนื่องจากระบบเรดาร์แบบนี้ จะมีผลกับเฆมที่หนา จะบังสัญญาณ ทำให้ข้อมูลที่แสดงบนจอเรดาร์ผิดพลาดได้ ดังนั้น จึงได้เกิดระบบของเรดาร์อีกระบบขึ้นมา

'เรดาร์' ไทย ไขปริศนา เที่ยวบิน MH 370 ล่องหน

เรดาร์  Secondary เป็นเรดาร์อีกระบบหนึ่งซึ่งแยกต่างหากจากเรดาร์แบบแรก ในระบบนี้ จะมีส่วนประกอบอยู่สามส่วน ที่เพิ่มเติมจากแบบแรก คือ Decoder, Interrogator, และ transponder

Decoder เป็นอุปกรณ์ถอดรหัส ติดตั้งอยู่กับจอแสดงผล ภายในห้อง เรดาร์ โดยมีหน้าที่อยู่สอง ประการคือ ควบคุม interrogator และแปลข้อมูล ที่ส่งมาจาก transponder

Interrogator เป็นอุปกรณ์ ที่ติดตั้งกับ เสาอากาศของ เรดาร์ ทำหน้าที่ส่งสัญญาณ และรับสัญญาณที่ส่งมาจาก transponder

Transponder เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบิน จะคอยตอบสัญญาณที่ส่งมาจากเรดาร์ โดย interrogator โดยอัตโนมัติ เมื่อได้รับสัญญาณจากเรดาร์ สำหรับเครื่องที่ติดตั้ง transponder MODE C จะทำให้เรดาร์ สามารถอ่านความสูงที่เครื่องบินกำลังบินอยู่ได้ สำหรับ transponder นั้น ผู้ควบคุม จะเป็นผู้กำหนด ให้เราตั้งค่า Squawk เรียกว่า "Squawk Number" เพื่อใช้แสดงตนของเครื่องบิน บนจอเรดาร์ การกำหนดหมายเลขของ squawk นี้จะเป็นตัวเลข 4 หลัก หากเราบินด้วย VFR เราจะกำหนดค่าของ squawk เป็น 1200 ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้กำหนดเป็น เช่น รหัส

"7500 ไฮแจ๊ค (Hijacked), 7600 วิทยุสื่อสารเสีย , 7700 เหตุฉุกเฉิน ถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต"

Lost Communication Procedures ในการบินเข้าสู่พื้นใดก็ตาม เราต้องทำการติดต่อสื่อสารกับ tower แต่ถ้าหากเราไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้เนื่องจากวิทยุสื่อสารเสีย ให้ทำการ ตั้งค่า squawk เป็น 7600 เพื่อให้ tower ทราบว่า วิทยุสื่อสารเสีย tower ก็จะติดต่อกับเราด้วย สัญญาณไฟ โดยมีความหมายดังนี้ Emergency Procedures เหตุฉุกเฉิน มีอยู่ 2 ชนิด คือ 1. เหตุที่จะก่อให้เกิดอันตราย ถึงขั้นเสียชีวิต กับ 2. เหตุที่ต้องการความเร่งด่วน เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ให้ตั้งคลื่นความถี่วิทยุ ไปที่ 121.500 MHz แล้วพูดคำว่า "MAYDAY MAYDAY MAYDAY" ในกรณีที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิต

'เรดาร์' ไทย ไขปริศนา เที่ยวบิน MH 370 ล่องหน

ในกรณีที่ต้องการความเร่งด่วน ให้ใช้คำว่า "PAN-PAN PAN-PAN PAN-PAN" เมื่อกล่าวจบ แล้ว บอกชื่อเรียกขานของตน บอกสถานที่อยู่ บอกความตั้งใจที่จะทำ ตั้ง squawk 7700 แล้วทำตามขั้นใน check list ของเครื่องบิน ในเรื่องของเหตุการณ์นั้น ตัวอย่างเช่น เครื่องยนต์เสีย จะต้องลงฉุกเฉิน ตั้งความถี่วิทยุสื่อสารมาที่ 121.500 MHz พูดคำว่า "MAYDAY MAYDAY ตั้ง squawk 7700 แล้วทำตาม check list ของเครื่องบิน ที่ว่าด้วยเรื่องการลงฉุกเฉินว่าต้องทำอะไรบ้าง โดยทำตามขั้นตอนที่อยู่ ใน check list นั้น คือสิ่งที่นักบินจะต้องเรียนรู้ในขั้นพื้นฐานนั่นเอง.