นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แย้ม ยังเป็นไปได้ประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน วอนกองทัพเข้าใจแค่ป้องปรามหรือเลือกข้าง การันตี ไม่ใช้กำลังปราบปรามประชาชนแน่นอน...
วันนี้ (5 ม.ค.57) นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ยังมีความเป็นไปได้เสมอ ถ้าอ่านกฎหมายดีๆ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำลังทหารก็ยังสนับสนุนได้ ไม่จำเป็นว่าทหารจะต้องออกหน้า โดยมาตรฐานสากล จริงๆ แล้ว ยังเป็นเรื่องของทหารและตำรวจ ที่เป็นกำลังหลักในการดูแลความสงบเรียบร้อย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พูดถึงพลเรือน ตำรวจ และทหาร ไม่ได้เอาทหารขึ้นหน้า แต่กรณีที่เกิดเหตุชุลมุนวุ่นวาย เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มีมือที่สาม หรือมีผู้ชุมนุมบางส่วนกระตุ้นเพื่อให้เกิดความรุนแรง เพื่อสร้างสถานการณ์ ตรงนี้ยังจำเป็นที่จะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อปราบปรามประชาชน รัฐบาลชุดนี้ จะไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชน เพราะถือว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ คิดว่ามีบทเรียนมากมายจากปี 53 แล้วจากรัฐบาลชัดที่แล้วที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการสลายการชุมนุมและปราบปรามประชาชน ที่ผิดหลักประชาธิปไตยและผิดหลักกฎหมายอย่างยิ่ง ยืนยันรัฐบาลชุดนี้ จะไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปราบปรามประชาชนอย่างเด็ดขาด
เมื่อถามว่า หากหลักกฎหมายการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย รัฐบาลประเมินหรือไม่ว่าทำไมกองทัพถึงไม่ต้องการให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสุรนันทน์ กล่าวว่า คิดว่าเป็นความเข้าใจผิดของสาธารณชนเยอะ รัฐบาลก็ต้องการทำความเข้าใจกับทหารว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการให้ทหารออกมาแสดงบทบาทเหมือนปี 53 แต่ต้องเข้าใจตำรวจออกมารักษาสถานการณ์ร่วม 2 เดือน มีความอ่อนล้า มีหลายจุดที่อาจดูแลความสงบเรียบร้อยได้ไม่อย่างเต็มที่ กำลังทหารที่มาสนับสนุนจะเป็นลักษณะป้องปรามมากกว่า ซึ่งหวังว่าทหารจะเข้าใจ อย่างไรก็ตาม การสนธิกำลังภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ขณะนี้รัฐบาลยังเห็นด้วยว่า เพียงพอภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ยังไม่ต้องเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทหารอาจจะมีความลังเล
นายสุรนันทน์ กล่าวว่า วันนี้ต้องเคารพผู้บริหารและผู้นำเหล่าทัพมีความเป็นมืออาชีพพอสมควร เพราะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง และต้องทำความเข้าใจด้วยว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการให้ ผบ.เหล่าทัพ มาเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในทางการเมือง แต่ต้องการให้กองทัพและ ผบ.เหล่าทัพรักษากฎหมาย และรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อัด ชัตดาวน์ไม่ใช่ "ปฏิรูป"
ต่อมา เมื่อเวลา 12.15 น. วันเดียวกัน นายสุรนันทน์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Suranand Vejjajiva" ใจความว่า " "ชัตดาวน์" ไม่ใช่ "ปฏิรูป"การที่ กปปส. ประกาศที่จะ “ชัตดาวน์” กรุงเทพฯ ในวันที่ 13 มกราคมนั้น ผมเคารพการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนทุกฝ่าย แต่การแสดงออกนั้น ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดต้องเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย โดยที่การดำเนินการของ กปปส. ทุกวันนี้ เป็นการแสดงออกที่เกินเลยหลักการของระบอบประชาธิปไตยไปมาก ไม่ใช่เป็นการเสนอแนวทาง "ปฏิรูป" อย่างที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการใช้อำนาจข่มขู่แบบนักเลงโต (Bully) สร้างความเกลียดชังด้วยการด่าทอผ่านคำพูดและการปราศรัย (Hate Speech) ซึ่งมีประชาชนทั่วประเทศหรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ เองจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วย เพราะ กปปส. กลับทำให้เกิดความแตกแยก ที่ร้าวลึกมากยิ่งขึ้น ทั้งยังก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวได้ลดลง และความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อประเทศไทยได้สูญหาย ยากที่จะเยียวยา ผมเห็นว่าแกนนำ กปปส. ควรทบทวนวิธีการซึ่งจะนำประเทศไปสู่ทางตัน กลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย และเข้าร่วมกับเวทีการปฏิรูปประเทศ ที่มีตัวกลางอย่างเช่นเวทีที่ภาคธุรกิจอาจจะเป็นผู้จัดขึ้น หรือจะเป็นเวทีของนักวิชาการ เวทีใดเวทีหนึ่งก็ได้ โดยไม่มีนักการเมืองหรือตัวแทนรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความสบายใจว่า รัฐบาลจะไม่ไปกำหนดวิธีการ ทิศทาง หรือเนื้อหาสาระของการปฏิรูป การร่วมกันหาทางออกบนโต๊ะที่ใช้การพูดจาหารือ และเป็นการเจรจาด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็น ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ย่อมดีกว่าการใช้การบีบบังคับจิตใจและสร้างความหวาดกลัว เพื่อให้เป็นไปตามความเชื่อของ กปปส. แต่ฝ่ายเดียว".
...